เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 11. มหาปโลภนชาดก (507)
[283] ขอเดชะพระมหาราชผู้ประเสริฐ ทรงมีพระปรีชาอันล้ำเลิศ
ขอพระองค์โปรดเสวยราชสมบัติ
ครอบครองกรุงพาราณสีซึ่งมั่งคั่งสมบูรณ์
สง่างามล้ำเลิศดุจทิพยวิมานเห็นปานนี้เถิด
จัมเปยยชาดกที่ 10 จบ

11. มหาปโลภนชาดก (507)
ว่าด้วยการประเล้าประโลมให้หลง
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า)
[284] เทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก จุติจากพรหมโลก
บังเกิดเป็นพระโอรสของพระราชาผู้ดำรงอยู่ในราชสมบัติ
ซึ่งให้สำเร็จความปรารถนาทุกประการ
[285] กามก็ดี ความสำคัญในกามก็ดี ไม่มีในพรหมโลก
พระกุมารนั้นทรงรังเกียจกามทั้งหลาย
เพราะสัญญานั้นนั่นเอง
[286] ก็ภายในเมือง ได้มีเรือนสำหรับบำเพ็ญฌาน
ที่พระราชบิดาโปรดให้สร้างไว้อย่างดีเพื่อพระกุมารนั้น
พระกุมารทรงหลีกเร้นบำเพ็ญฌานอยู่พระองค์เดียว
ในที่ลับในเรือนสำหรับบำเพ็ญฌานนั้น
[287] พระราชาพระองค์นั้นทรงอัดอั้นตันพระทัย
ด้วยความโศกเพราะพระโอรส ได้ทรงบ่นเพ้อรำพันว่า
ก็โอรสองค์เดียวของเรานี้ช่างไม่บริโภคกามเสียเลย
(พระราชาทรงบ่นเพ้อรำพันว่า)
[288] ผู้ใดพึงเล้าโลมโอรสของเราโดยที่เขาพึงปรารถนากามได้บ้าง
อุบายในข้อนี้นั้นเป็นอย่างไรหนอ
หรือใครรู้เหตุที่จะทำให้โอรสของเรานั้นเกี่ยวข้องกามได้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :520 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 11. มหาปโลภนชาดก (507)
(พระศาสดาตรัสเล่าเรื่องว่า)
[289] ภายในเมืองนั้นเอง ได้มีกุมารีแรกรุ่นนางหนึ่ง
มีผิวพรรณรูปร่างงดงาม เป็นหญิงฉลาดการฟ้อนรำขับร้อง
และได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีในการบรรเลงดนตรี
[290] นางได้เข้าไปภายในพระราชฐาน
ได้กราบทูลพระราชาดังนี้ว่า
ถ้าหม่อมฉันจักได้พระกุมารเป็นภัสดา
หม่อมฉันก็พึงประเล้าประโลมพระกุมารนั้น
[291] พระราชาได้ตรัสกับนางผู้กราบทูลอย่างนั้นดังนี้ว่า
เธอประเล้าประโลมเขาได้ เธอจักได้เขาเป็นภัสดา
(พระศาสดาทรงประกาศความข้อนั้นว่า)
[292] ก็นางครั้นไปถึงภายในพระราชฐาน
ได้บรรเลงดนตรียั่วยวนความใคร่นานับประการ
ขับกล่อมคาถาอันไพเราะจับใจ น่ารักใคร่
[293] ก็เพราะทรงสดับเสียงขับกล่อมแห่งนารีนั้นขับกล่อมอยู่
กามฉันทะได้เกิดขึ้นแก่พระกุมารนั้น
พระองค์จึงทรงสอบถามชนผู้อยู่รอบ ๆ ข้างว่า
[294] นั่นเสียงใครกัน ใครกันนั่นขับร้องสำเนียงเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ
ได้อย่างไพเราะ จับใจ น่ารักใคร่นักหนา เสนาะหูเราเหลือเกิน
(ข้าราชบริพารกราบทูลว่า)
[295] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ นั่นเป็นเสียงสตรี
น่าเพลิดเพลินมิใช่น้อย ถ้าพระองค์พึงบริโภคกาม
กามทั้งหลายจะพึงทำพระองค์ให้พอพระทัยยิ่งขึ้น
(พระราชกุมารตรัสว่า)
[296] เชิญนางมาทางนี้ ทำไมขับร้องอยู่ห่างไกลนัก
จงขับร้องอยู่ใกล้ ๆ ตำหนักของเรา และใกล้ ๆ เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :521 }