เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 9. โสมนัสสชาดก (505)
(พระโพธิสัตว์ผู้เป็นพระโอรสกราบทูลว่า)
[224] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
โภคะทั้งหลายของพระองค์ในพระนครนี้
ที่หม่อมฉันควรจะบริโภคใช้สอยมีอยู่หรือหนอ
ในชาติก่อน หม่อมฉันได้รื่นรมย์ด้วย รูป เสียง กลิ่น รส
และผัสสะ อันน่ารื่นรมย์ใจอยู่ในเทวโลก
[225] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ โภคะทั้งหลาย
ในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ หม่อมฉันก็บริโภคใช้สอยมาแล้ว
และหม่อมฉันก็มีหมู่เทพอัปสรแวดล้อมบำเรอแล้ว
อนึ่ง หม่อมฉันทราบว่า พระองค์เป็นพาล ถูกผู้อื่นแนะนำ
จึงไม่ควรอยู่ในราชสกุลเช่นนั้น
(พระราชาตรัสว่า)
[226] หากพ่อเป็นคนพาล ถูกผู้อื่นแนะนำไซร้
ลูกรัก เจ้าจงอดโทษให้พ่อสักครั้งเถิด ถ้าพ่อเป็นเช่นนี้อีก
จงทำตามความคิดของเจ้าเถิด พ่อโสมนัส
(พระโพธิสัตว์ถวายโอวาทพระราชบิดาว่า)
[227] การงานที่บุคคลไม่ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
ไม่ไตร่ตรองก่อนคิด ผลย่อมเลวทรามเหมือนยาเสื่อมคุณภาพ
[228] การงานที่บุคคลใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
ไตร่ตรองโดยชอบก่อนแล้วคิด
ผลย่อมเจริญเหมือนยาไม่เสื่อมคุณภาพ
[229] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเกียจคร้านไม่ดี
บรรพชิตไม่สำรวมไม่ดี
พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไม่ดี
การที่บัณฑิตโกรธไม่ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :509 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 9. โสมนัสสชาดก (505)
[230] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
กษัตริย์ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงควรทำ
ไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วไม่ควรตัดสิน
ยศและเกียรติย่อมเจริญแด่พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
[231] ขอเดชะพระภูมิบาล
คนผู้เป็นใหญ่ควรใคร่ครวญก่อนแล้วจึงลงอาชญา
การงานที่ทำเพราะความรีบร้อนย่อมเดือดร้อน
ส่วนประโยชน์ทั้งหลายของนรชนที่ทำด้วยจิตที่ตั้งมั่นโดยชอบ
ย่อมไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อนในภายหลัง
[232] อนึ่ง ชนเหล่าใดจัดแจงบ่อเกิดแห่งการงานในโลก
แล้วทำการงานที่ไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อนในภายหลัง
การงานของพวกเขาวิญญูชนสรรเสริญ
มีความสุขเป็นกำไรที่ผู้รู้ทั้งหลายมีความเห็นคล้อยตาม
[233] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน พนักงานเฝ้าประตูที่ติดดาบ
และเพชฌฆาตมาเพื่อจะฆ่าหม่อมฉัน
อนึ่ง หม่อมฉันนั่งอยู่บนพระเพลาของพระราชมารดา
ถูกพวกเขาฉุดคร่ามาโดยทารุณ
[234] ขอเดชะพระมหาราช หม่อมฉันประสบภัยคือความตาย
อันเผ็ดร้อนคับแคบและลำบาก
วันนี้ชีวิตอันเป็นที่รักปานดังมธุรสหม่อมฉันได้แล้ว
พ้นแล้วจากการถูกประหารได้โดยยาก
จึงมีใจมุ่งต่อการบวชอย่างเดียว
(พระราชาทรงรับสั่งเรียกพระราชเทวีมาตรัสว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :510 }