เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 9. โสมนัสสชาดก (505)
(พระราชกุมารกราบทูลว่า)
[219] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
ดาบสผู้นี้มีของเก็บรวบรวมไว้หลายชนิด
เช่น สมอพิเภก รากไม้ และผลไม้นานาชนิด
เธอไม่ประมาท เฝ้ารักษาคุ้มครองสิ่งของเหล่านั้นไว้
เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงร้องเรียกเธอว่าเป็นคหบดี
(พระราชาทรงทราบว่าพระโพธิสัตว์ไม่มีความผิดจึงตรัสว่า)
[220] พ่อกุมาร คำที่เจ้าพูดเป็นความจริง
ดาบสผู้นี้มีของเก็บรวบรวมไว้หลายชนิด
เธอไม่ประมาท เฝ้ารักษาคุ้มครองสิ่งของเหล่านั้นไว้
เพราะเหตุนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เป็นคหบดี
(พระโพธิสัตว์นอบน้อมบริษัทแล้วตรัสว่า)
[221] ขอบริษัททั้งหลายพร้อมทั้งชาวนิคมและชาวชนบททั้งปวง
ที่มาประชุมพร้อมกันจงฟังข้าพเจ้า
พระราชาผู้จอมชนพระองค์นี้เป็นพาล
ทรงฟังคำของดาบสผู้เป็นพาลแล้ว
รับสั่งให้ประหารข้าพเจ้าโดยมิใช่เหตุ
(ต่อมาพระโพธิสัตว์ทูลขอบรมราชานุญาตบวชว่า)
[222] เมื่อรากยังมั่นคงเจริญงอกงามแผ่ไพศาลอยู่
กอไผ่ที่แตกกิ่งก้านสาขาก็ยากที่จะถอนให้หมดสิ้นได้
ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน
หม่อมฉันขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์
ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หม่อมฉันบวช
(พระราชาตรัสว่า)
[223] เจ้าจงเสวยโภคะอันไพบูลย์เถิด พ่อกุมาร
พ่อจะมอบความเป็นใหญ่ให้เจ้าทุกอย่าง
เจ้าจงเป็นพระราชาของชนชาวกุรุในวันนี้เถิด
อย่าบวชเลย เพราะการบวชเป็นทุกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :508 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 9. โสมนัสสชาดก (505)
(พระโพธิสัตว์ผู้เป็นพระโอรสกราบทูลว่า)
[224] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
โภคะทั้งหลายของพระองค์ในพระนครนี้
ที่หม่อมฉันควรจะบริโภคใช้สอยมีอยู่หรือหนอ
ในชาติก่อน หม่อมฉันได้รื่นรมย์ด้วย รูป เสียง กลิ่น รส
และผัสสะ อันน่ารื่นรมย์ใจอยู่ในเทวโลก
[225] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ โภคะทั้งหลาย
ในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ หม่อมฉันก็บริโภคใช้สอยมาแล้ว
และหม่อมฉันก็มีหมู่เทพอัปสรแวดล้อมบำเรอแล้ว
อนึ่ง หม่อมฉันทราบว่า พระองค์เป็นพาล ถูกผู้อื่นแนะนำ
จึงไม่ควรอยู่ในราชสกุลเช่นนั้น
(พระราชาตรัสว่า)
[226] หากพ่อเป็นคนพาล ถูกผู้อื่นแนะนำไซร้
ลูกรัก เจ้าจงอดโทษให้พ่อสักครั้งเถิด ถ้าพ่อเป็นเช่นนี้อีก
จงทำตามความคิดของเจ้าเถิด พ่อโสมนัส
(พระโพธิสัตว์ถวายโอวาทพระราชบิดาว่า)
[227] การงานที่บุคคลไม่ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
ไม่ไตร่ตรองก่อนคิด ผลย่อมเลวทรามเหมือนยาเสื่อมคุณภาพ
[228] การงานที่บุคคลใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
ไตร่ตรองโดยชอบก่อนแล้วคิด
ผลย่อมเจริญเหมือนยาไม่เสื่อมคุณภาพ
[229] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเกียจคร้านไม่ดี
บรรพชิตไม่สำรวมไม่ดี
พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไม่ดี
การที่บัณฑิตโกรธไม่ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :509 }