เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 4. สิรีมันตชาดก (500)
(เสนกบัณฑิตกราบทูลคัดค้านแล้วว่า)
[87] ศิลปะนี้ก็ดี เผ่าพันธุ์ก็ดี ส่วนแห่งร่างกายก็ดี
หาจัดแจงโภคะได้ไม่
โปรดทอดพระเนตรโควินทะผู้ใบ้เพราะน้ำลาย
ซึ่งไดัรับความสุขเพราะคนมีสิริย่อมคบหาเขา
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ
(มโหสธบัณฑิตกราบทูลคัดค้านว่า)
[88] คนมีปัญญาน้อยได้รับความสุขย่อมมัวเมา
แม้ถูกความทุกข์กระทบย่อมหลง
ถูกความสุขและความทุกข์จรมากระทบเข้า
ย่อมหวั่นไหวเหมือนปลาในฤดูร้อน
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่
(เสนกบัณฑิตกราบทูลคัดค้านว่า)
[89] ต้นไม้ในป่าที่มีผลดก ฝูงนกย่อมบินโฉบไปมาอยู่รอบต้นฉันใด
คนผู้มั่งคั่งมีทรัพย์ มีโภคะก็ฉันนั้น
คนเป็นจำนวนมากย่อมคบหาเพราะเหตุแห่งประโยชน์
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ
(มโหสธบัณฑิตกราบทูลคัดค้านว่า)
[90] คนโง่ถึงจะมีกำลังก็หายังประโยชน์ให้สำเร็จได้ไม่
นายนิรยบาลทั้งหลายย่อมฉุดคร่าคนมีปัญญาทราม
ผู้คร่ำครวญถึงทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยกรรมอันโหดร้าย
ไปสู่นรกที่มีเวทนาอันแรงกล้า
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :485 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 4. สิรีมันตชาดก (500)
(เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
[91] แม่น้ำบางสายย่อมไหลลงสู่แม่น้ำคงคา
แม่น้ำเหล่านั้นทุกสายย่อมละทิ้งชื่อและโคตร(ของตน)
แม่น้ำคงคาเมื่อไหลลงสู่ท้องทะเลก็ไม่ปรากฏชื่อฉันใด
แม้คนมีปัญญาในโลกก็ฉันนั้น ย่อมไม่ปรากฏความสำเร็จ
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ
(มโหสธบัณฑิตกราบทูลว่า)
[92] ทะเลใหญ่หลวงที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง
ซึ่งแม่น้ำน้อยใหญ่หลั่งไหลไป
นับไม่ถ้วนอยู่ตลอดกาลทั้งปวง
มีกำลังโอฬารอยู่เป็นนิตย์
มหาสมุทรย่อมไม่ล่วงเลยฝั่งไปได้ฉันใด
[93] แม้ถ้อยคำของคนโง่ก็ฉันนั้น ในกาลบางครั้งบางคราว
ถึงคนมีสิริก็ไม่ล่วงเลยคนมีปัญญาไปได้
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่
(เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
[94] ถึงแม้คนผู้ไม่สำรวมแต่มียศ
ดำรงอยู่ในฐานะผู้วินิจฉัย
ย่อมกล่าวเนื้อความแก่คนเหล่าอื่น
ถ้อยคำของเขานั้นนั่นแลย่อมงอกงามในท่ามกลางแห่งหมู่ญาติ
เพราะคนมีสิริยังคนเหล่าอื่นให้ทำตามถ้อยคำของตนนั้นได้
คนมีปัญญาหาทำได้ไม่
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :486 }