เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [14. ปกิณณกนิบาต] 9. ตัจฉสูกรชาดก (492)
(สุกรเหล่านั้นตอบว่า)
[165] ท่านตัจฉะ พญาเนื้อ
เป็นสัตว์มีพลัง มีเขี้ยวเป็นอาวุธ
มันมาที่นี่ฆ่าสุกรแล้วกัดกินเนื้อล่ำ ๆ เป็นประจำ
(สุกรตัจฉะกล่าวว่า)
[166] พวกเราไม่มีเขี้ยวก็หาไม่ พลังกายก็พร้อมมูล
พวกเราทั้งหมดจงพร้อมเพรียงกัน สร้างอำนาจร่วมกัน
(สุกรเหล่านั้นกล่าวว่า)
[167] ท่านตัจฉะ ท่านนะพูดได้จับใจ สบายหู
แม้ตัวใดหนีไปในขณะต่อสู้ พวกเราจะฆ่าตัวนั้นในภายหลัง
(ชฎิลโกงเห็นเสือโคร่งกลับมามือเปล่า จึงกล่าวว่า)
[168] วันนี้ท่านงดเว้นจากปาณาติบาตหรือหนอ
หรือว่าท่านให้อภัยแก่หมู่สัตว์ทั้งปวง
ท่านไม่มีเขี้ยวที่จะฆ่าเนื้อหรือหนอ
ถึงอยู่ในฝูงสุกรก็ยังซบเซาเหมือนคนกำพร้า
(พญาเสือโคร่งได้กล่าวว่า)
[169] ข้าพเจ้าจะไม่มีเขี้ยวก็หาไม่ พลังกายก็พร้อมมูล
แต่เพราะเห็นญาติ ๆ พร้อมเพรียงเป็นอันเดียวกัน
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงซบเซาอยู่ผู้เดียวในป่า
[170] เมื่อก่อนสุกรเหล่านี้กลัวภัย
แยกกันหนีไปคนละทิศละทาง แสวงหาที่พึ่ง
แต่บัดนี้พวกมันกลับรวมหมู่กันตั้งท่าสู้
ยากที่ข้าพเจ้าจะข่มพวกมันได้
[171] พวกมันได้ผู้นำดี มีความพร้อมเพรียงกัน
มีความเห็นอย่างเดียวกัน พร้อมกันที่จะทำลายข้าพเจ้าได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ปรารถนาสุกรเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :450 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [14. ปกิณณกนิบาต] 9. ตัจฉสูกรชาดก (492)
(ชฎิลโกงเมื่อจะให้เสือโคร่งเกิดความอุตสาหะ จึงกล่าวว่า)
[172] พระอินทร์องค์เดียวยังเอาชัยชนะพวกอสูรได้
นกเหยี่ยวตัวเดียวยังข่มขี่ฆ่านกทั้งหลายได้
เสือโคร่งตัวเดียวเข้าไปอยู่ในฝูงเนื้อ
ก็ยังฆ่าเนื้อตัวล่ำ ๆ ซึ่งมีกำลังเหมือนเช่นนั้นได้
(เสือโคร่งกล่าวว่า)
[173] หมู่ญาติผู้พร้อมเพรียงร่วมใจกัน มีกิริยาเช่นเสือโคร่ง
ไม่ว่าพระอินทร์หรือนกเหยี่ยว หรือเสือโคร่ง ซึ่งเป็นพญาสัตว์
ก็ไม่อาจให้อยู่ในอำนาจได้
(ชฎิลโกงปลุกใจเสือโคร่งว่า)
[174] ฝูงนกกุมภีลกาตัวเล็ก ๆ เที่ยวไปเป็นฝูง เป็นหมู่
รื่นเริง จับกลุ่มกันโผผิน บินร่อนไปมา
[175] ก็เมื่อนกเหล่านั้นโผผินอยู่ เหยี่ยวย่อมโฉบเอานกตัวหนึ่ง
บรรดานกเหล่านั้นที่แตกฝูงออกมา
นั้นเป็นคติของเหล่าพยัคฆ์ทั่วไป
(พระศาสดาทรงประกาศข้อความนั้นว่า)
[176] เสือโคร่งมีเขี้ยวเป็นอาวุธ ถูกชฎิลชั่วผู้เห็นแก่อามิสปลุกใจ
มีความสำคัญเหมือนครั้งก่อน
จึงได้เผ่นเข้าไปในฝูงของสุกรผู้ที่มีเขี้ยว
(รุกขเทวดาเห็นเหตุอัศจรรย์นั้น จึงกล่าวคาถาว่า)
[177] ญาติทั้งหลายมีมากด้วยกันเป็นการดี
ถึงแม้จะเป็นต้นไม้ที่เกิดในป่าก็ตาม
เสือโคร่งถูกสุกรทั้งหลายที่สามัคคีกันฆ่าตาย
ในหนทางที่เดินได้คนเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :451 }