เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [14. ปกิณณกนิบาต] 9. ตัจฉสูกรชาดก (492)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศว่า นกเหล่านั้นพ้นจากทุกข์ได้เพราะอาศัย
พญานกยูง จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า)
[159] นายพรานถือบ่วงเที่ยวไปในป่า
เพื่อจะจับพญานกยูงทองผู้เรืองยศ
ครั้นจับพญานกยูงทองผู้เรืองยศได้แล้ว
เขาได้พ้นจากทุกข์เหมือนเราตถาคตได้พ้นแล้ว
มหาโมรชาดกที่ 8 จบ

9. ตัจฉสูกรชาดก (492)
ว่าด้วยสุกรชื่อตัจฉะ
(สุกรตัจฉะเที่ยวเสาะหาฝูงสุกรในป่าพบสุกรจำนวนมากแล้วดีใจ จึงกล่าวว่า)
[160] เราเมื่อเสาะหาหมู่ญาติใด เที่ยวไปตามเทือกเขาลำเนาไพร
เราเที่ยวตามหาอยู่ช้านาน ญาติทั้งหลายนี้นั้นเราก็ได้พบแล้ว
[161] มูลผลาหารนี้ก็มีอยู่มาก และภักษาหารนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย
ส่วนแม่น้ำ ภูเขานี้ก็น่ารื่นรมย์ คงจะอยู่ได้สบาย
[162] เราจักอยู่พร้อมกับหมู่ญาติทั้งปวงในที่นี้แหละ
จักเป็นผู้ขวนขวายน้อย หมดความระแวงภัย
ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
(สุกรทั้งหลายกล่าวว่า)
[163] ตัจฉะ ท่านจงเสาะหาถ้ำในที่อื่นอยู่เถิด
ในที่นี้พวกเรามีศัตรู
มันมาที่นี้ฆ่าสุกรแล้วกัดกินเนื้อล่ำ ๆ เป็นประจำ
(สุกรตัจฉะถามว่า)
[164] ใครหนอเป็นศัตรูของพวกเราในที่นี้
ใครกันรังควานหมู่ญาติผู้พร้อมเพรียงซึ่งรังควานได้ยาก
เราถามแล้ว ขอพวกท่านจงบอกผู้นั้นแก่เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :449 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [14. ปกิณณกนิบาต] 9. ตัจฉสูกรชาดก (492)
(สุกรเหล่านั้นตอบว่า)
[165] ท่านตัจฉะ พญาเนื้อ
เป็นสัตว์มีพลัง มีเขี้ยวเป็นอาวุธ
มันมาที่นี่ฆ่าสุกรแล้วกัดกินเนื้อล่ำ ๆ เป็นประจำ
(สุกรตัจฉะกล่าวว่า)
[166] พวกเราไม่มีเขี้ยวก็หาไม่ พลังกายก็พร้อมมูล
พวกเราทั้งหมดจงพร้อมเพรียงกัน สร้างอำนาจร่วมกัน
(สุกรเหล่านั้นกล่าวว่า)
[167] ท่านตัจฉะ ท่านนะพูดได้จับใจ สบายหู
แม้ตัวใดหนีไปในขณะต่อสู้ พวกเราจะฆ่าตัวนั้นในภายหลัง
(ชฎิลโกงเห็นเสือโคร่งกลับมามือเปล่า จึงกล่าวว่า)
[168] วันนี้ท่านงดเว้นจากปาณาติบาตหรือหนอ
หรือว่าท่านให้อภัยแก่หมู่สัตว์ทั้งปวง
ท่านไม่มีเขี้ยวที่จะฆ่าเนื้อหรือหนอ
ถึงอยู่ในฝูงสุกรก็ยังซบเซาเหมือนคนกำพร้า
(พญาเสือโคร่งได้กล่าวว่า)
[169] ข้าพเจ้าจะไม่มีเขี้ยวก็หาไม่ พลังกายก็พร้อมมูล
แต่เพราะเห็นญาติ ๆ พร้อมเพรียงเป็นอันเดียวกัน
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงซบเซาอยู่ผู้เดียวในป่า
[170] เมื่อก่อนสุกรเหล่านี้กลัวภัย
แยกกันหนีไปคนละทิศละทาง แสวงหาที่พึ่ง
แต่บัดนี้พวกมันกลับรวมหมู่กันตั้งท่าสู้
ยากที่ข้าพเจ้าจะข่มพวกมันได้
[171] พวกมันได้ผู้นำดี มีความพร้อมเพรียงกัน
มีความเห็นอย่างเดียวกัน พร้อมกันที่จะทำลายข้าพเจ้าได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ปรารถนาสุกรเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :450 }