เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [14. ปกิณณกนิบาต] 8. มหาโมรชาดก (491)
(บุตรนายพรานกล่าวว่า)
[149] สมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวว่า เทวดาไม่มี
ชีวะย่อมถึงความขาดสูญในภพนี้เท่านั้น
ผลของกรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน ย่อมขาดสูญ
และกล่าวสอนว่า ทานคนโง่บัญญัติไว้
ข้าพเจ้าเชื่อวาจาของพระอรหันต์เหล่านั้น
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเบียดเบียนนกทั้งหลาย
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[150] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง 2 เห็นได้ชัดเจน
ส่องโลกให้สว่างไสว โคจรไปในอากาศ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง 2 นั้นมีอยู่ในโลกนี้หรือโลกอื่น
ในมนุษยโลก พวกเขากล่าวถึงดวงจันทร์
และดวงอาทิตย์ทั้ง 2 นั้นอย่างไรหนอ
(บุตรนายพรานกล่าวว่า)
[151] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง 2 เห็นได้ชัดเจน
ส่องโลกให้สว่างไสว โคจรไปในอากาศ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง 2 นั้นมีอยู่ในโลกอื่น ไม่ใช่โลกนี้
ในมนุษยโลก พวกเขากล่าวถึงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ทั้ง 2 นั้นว่า เทวดา
(ต่อมาพระโพธิสัตว์ได้กล่าวกับเขาว่า)
[152] สมณะและพราหมณ์เหล่าใดเป็นอเหตุกทิฏฐิ1 ไม่พูดถึงกรรม
ไม่พูดถึงผลของกรรมดีกรรมชั่วด้วยเหมือนกัน
แต่สอนว่า ทานคนโง่บัญญัติไว้
สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นผู้มีทิฏฐิเลวทราม
ถูกกำจัดแล้วในเพราะการพยากรณ์เพียงเท่านี้

เชิงอรรถ :
1 อเหตุกทิฏฐิ คือพวกมีความเห็นผิดกล่าวอย่างนี้ว่า กรรมที่เป็นเหตุแห่งความบริสุทธิ์และความเศร้าหมอง
ไม่มี (ขุ.ชา.อ. 8/152/302)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :447 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [14. ปกิณณกนิบาต] 9. ตัจฉสูกรชาดก (492)
(บุตรนายพรานกำหนดได้แล้วจึงกล่าวว่า)
[153] คำของท่านนั้นเป็นคำสัตย์อย่างแท้จริง
ทานจะไม่พึงมีผลได้อย่างไร
กรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน จะไม่พึงมีผลได้อย่างไร
และทานคนโง่จะพึงบัญญัติขึ้นได้อย่างไร
[154] พญานกยูง ข้าพเจ้ากระทำกรรมอย่างไร กระทำเพราะอะไร
ประพฤติอย่างไร จะคบใคร ผู้มีตบะคุณอย่างไร
ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้าโดยที่ข้าพเจ้าจะไม่ต้องตกนรก
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[155] บนพื้นแผ่นดินยังมีสมณะพวกใดพวกหนึ่งอยู่
สมณะเหล่านั้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นบรรพชิต
เที่ยวบิณฑบาตเฉพาะเวลาเช้า
งดเว้นการบริโภคในเวลาวิกาล เป็นสัตบุรุษ
[156] ท่านจงเข้าไปหาสมณะเหล่านั้นตามกาลอันสมควร
แล้วจงถามข้อความตามที่ท่านพอใจ
สมณะเหล่านั้นจะชี้แจงข้อความอันเป็นประโยชน์
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าแก่ท่านตามที่รู้มา
(พระปัจเจกพุทธเจ้าเปล่งอุทานว่า)
[157] ความเป็นพรานนี้ข้าพเจ้าละได้แล้ว
เหมือนงูลอกคราบเก่าแก่ทิ้งไป
เหมือนต้นไม้สลัดใบเหลืองทิ้ง เขียวชะอุ่มอยู่
ข้าพเจ้าละทิ้งความเป็นพรานได้ในวันนี้
(ท่านทำสัจจกิริยาว่า)
[158] นกเหล่าใดที่ข้าพเจ้ากักขังไว้หลายร้อยตัวในเรือนของข้าพเจ้า
วันนี้ ข้าพเจ้าให้ทานชีวิตแก่นกเหล่านั้น
ขอให้นกเหล่านั้นจงหลุดพ้น กลับไปยังที่อยู่ของตนเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :448 }