เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [14. ปกิณณกนิบาต] 8. มหาโมรชาดก (491)
(บุตรนายพรานปลอบว่า)
[144] ลูกธนูที่สอดอยู่ในแล่งนี้
ข้าพเจ้าตั้งใจจะฆ่าท่านในวันนี้ก็หาไม่
แต่จะตัดบ่วงให้แก่ท่าน ด้วยมีความประสงค์ว่า
ขอพญายูงทองจงบินไปตามสบายเถิด
(พญานกยูงกล่าวว่า)
[145] ข้าพเจ้าขอถามท่าน เพราะเหตุที่ท่าน
สู้อดกลั้นความหิวกระหายตลอดทั้งคืนทั้งวัน
เฝ้าติดตามข้าพเจ้าอยู่ตลอด 7 ปี
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุอะไร ท่านจึงประสงค์จะปล่อยข้าพเจ้า
ผู้ติดบ่วงให้พ้นเสียจากเครื่องผูกเล่า
[146] วันนี้ ท่านงดเว้นจากปาณาติบาตแล้วหรือหนอ
หรือว่าท่านให้อภัยแก่สัตว์ทั้งปวงแล้ว
เพราะเหตุใด ท่านจึงประสงค์จะปล่อยข้าพเจ้าผู้ติดบ่วง
ให้พ้นเสียจากเครื่องผูกเล่า
(บุตรนายพรานถามว่า)
[147] พญานกยูง ขอท่านจงบอกถึงผล
ของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาตและให้อภัยหมู่สัตว์ทั้งปวง
ความข้อนี้ที่ข้าพเจ้าถามท่าน
เขาจุติจากโลกนี้ไปแล้วจะได้รับความสุขอย่างไร
(พญานกยูงตอบว่า)
[148] ข้าพเจ้าขอบอกผลของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
และผู้ให้อภัยหมู่สัตว์ทั้งปวงว่า
เขาย่อมได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน
และเมื่อตายย่อมไปสู่สวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :446 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [14. ปกิณณกนิบาต] 8. มหาโมรชาดก (491)
(บุตรนายพรานกล่าวว่า)
[149] สมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวว่า เทวดาไม่มี
ชีวะย่อมถึงความขาดสูญในภพนี้เท่านั้น
ผลของกรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน ย่อมขาดสูญ
และกล่าวสอนว่า ทานคนโง่บัญญัติไว้
ข้าพเจ้าเชื่อวาจาของพระอรหันต์เหล่านั้น
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเบียดเบียนนกทั้งหลาย
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[150] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง 2 เห็นได้ชัดเจน
ส่องโลกให้สว่างไสว โคจรไปในอากาศ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง 2 นั้นมีอยู่ในโลกนี้หรือโลกอื่น
ในมนุษยโลก พวกเขากล่าวถึงดวงจันทร์
และดวงอาทิตย์ทั้ง 2 นั้นอย่างไรหนอ
(บุตรนายพรานกล่าวว่า)
[151] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง 2 เห็นได้ชัดเจน
ส่องโลกให้สว่างไสว โคจรไปในอากาศ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง 2 นั้นมีอยู่ในโลกอื่น ไม่ใช่โลกนี้
ในมนุษยโลก พวกเขากล่าวถึงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ทั้ง 2 นั้นว่า เทวดา
(ต่อมาพระโพธิสัตว์ได้กล่าวกับเขาว่า)
[152] สมณะและพราหมณ์เหล่าใดเป็นอเหตุกทิฏฐิ1 ไม่พูดถึงกรรม
ไม่พูดถึงผลของกรรมดีกรรมชั่วด้วยเหมือนกัน
แต่สอนว่า ทานคนโง่บัญญัติไว้
สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นผู้มีทิฏฐิเลวทราม
ถูกกำจัดแล้วในเพราะการพยากรณ์เพียงเท่านี้

เชิงอรรถ :
1 อเหตุกทิฏฐิ คือพวกมีความเห็นผิดกล่าวอย่างนี้ว่า กรรมที่เป็นเหตุแห่งความบริสุทธิ์และความเศร้าหมอง
ไม่มี (ขุ.ชา.อ. 8/152/302)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :447 }