เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [14. ปกิณณกนิบาต] 7. ปัญจุโปสถิกชาดก (490)
[118] กษัตริย์ผู้สมบูรณ์ด้วยพระชาติ
เป็นอภิชาตบุตรผู้เรืองยศ เป็นพระธรรมราชาแห่งชาววิเทหะ
จะอุบัติแด่พระนาง
(พระนางสุเมธาทรงโสมนัส จึงตรัสถามว่า)
[119] พระดาบสผู้มีดวงตาแจ่มใส ครองผ้าเปื้อนฝุ่น
ยืนอยู่ในอากาศที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง
กล่าววาจาเป็นที่น่าชื่นใจ จับใจดิฉันยิ่งนัก
[120] ท่านเป็นเทวดามาจากสวรรค์หรือหนอ
หรือว่าเป็นฤๅษีผู้มีฤทธิ์มาก
ท่านเป็นใครกันแน่มาถึงที่นี้ จงประกาศตนให้ดิฉันทราบ
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[121] หมู่เทพมาประชุมพร้อมกันที่สภาชื่อสุธรรมาถวายบังคมท่านผู้ใด
ท่านผู้นั้นคือข้าพเจ้าท้าวสักกสหัสสนัยน์ได้มายังสำนักของพระนาง
[122] หญิงคนใดในมนุษยโลก ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ
มีปัญญา มีศีล มีความเคารพสามี นับถือแม่ผัวประดุจเทวดา
[123] เทวดาทั้งหลายซึ่งมิใช่มนุษย์ย่อมมาเยือนหญิงมนุษย์
ผู้มีปัญญาดี มีการงานอันสะอาดเช่นนั้น
[124] พระนางผู้เจริญ ก็พระนางมีกรรมอันสั่งสมไว้ดีแล้ว
และมีการประพฤติที่ดีงามไว้ในปางก่อน ทรงเกิดในราชสกุลนี้
เป็นหญิงที่มีความสำเร็จตามความปรารถนาทุกสิ่งทุกอย่าง
[125] พระราชบุตรี ก็พระนางทรงกำชัยชนะนี้ไว้ได้ในโลกทั้ง 2
คือทรงเข้าถึงเทวโลก 1 มีเกียรติยศชื่อเสียงในชีวิตนี้ 1
[126] พระนางสุเมธา ขอพระองค์ทรงสุขสำราญ
รักษาธรรมไว้ในพระองค์ตลอดกาลนานเถิด
เรานี้ขอลากลับไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทศ การพบพระนางเป็นที่พอใจของเรา
สุรุจิชาดกที่ 6 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :442 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [14. ปกิณณกนิบาต] 7. ปัญจุโปสถิกชาดก (490)
7. ปัญจุโปสถิกชาดก (490)
ว่าด้วยการรักษาอุโบสถของสัตว์ 5 ชนิด
(พระโพธิสัตว์ถามนกพิราบว่า)
[127] เจ้านกพิราบ บัดนี้เจ้าดูขวนขวายน้อยไป
เจ้าไม่ต้องการอาหารหรือ
ทำไมจึงอดกลั้นความหิวกระหาย
รักษาอุโบสถอยู่เล่า เจ้านกพิราบ
(นกพิราบกล่าวว่า)
[128] เมื่อก่อนข้าพเจ้าตกอยู่ในความกำหนัดต่อนางนกพิราบ
เราทั้ง 2 รื่นรมย์กันที่ภูมิประเทศนั้น ๆ
ต่อมานกเหยี่ยวได้บินโฉบเอานางนกพิราบไป
ข้าพเจ้ามิได้ประสงค์จะพลัดพรากจากนางนกนั้นเลย
[129] เพราะความพลัดพรากแยกออกจากนาง
ข้าพเจ้าจึงได้เสวยเวทนาทางใจ
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถด้วยคิดว่า
ราคะอย่าได้มารบกวนข้าพเจ้าอีกต่อไป
(พระโพธิสัตว์ถามสัตว์ทีละตัว ฝ่ายสัตว์เหล่านั้นก็ตอบตามความเป็นจริงว่า)
[130] เจ้างูผู้เป็นสัตว์เลื้อยคลาน ผู้มีลิ้นสองแฉก เจ้าเลื้อยไม่ตรง
เลื้อยไปด้วยอก มีเขี้ยวเป็นอาวุธ มีพิษร้ายแรง
ทำไมเจ้าจึงอดกลั้นความหิวกระหายรักษาอุโบสถอยู่เล่า
[131] โคเปลี่ยวมีกำลังของนายบ้าน
มีหนอกกระเพื่อม มีสีสันสวยงาม
มีกำลังวังชาสมบูรณ์ มันเหยียบข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าโกรธจึงได้กัดมัน
มันทุรนทุรายเพราะความทุกข์จนถึงตาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :443 }