เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [14. ปกิณณกนิบาต] 5. ภิสชาดก (488)
(อุททาลกดาบสติเตียนพราหมณ์ว่า)
[74] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล
และคนเทขยะทั้งหลายล้วนแต่เป็นผู้สงบเสงี่ยม
ฝึกตนแล้ว ล้วนแต่ได้ปรินิพพานแล้ว
[75] เมื่อทุกคนมีความสงบเยือกเย็น ย่อมไม่มีทั้งคนดีและคนชั่ว
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจะประพฤติให้เสียความเป็นพราหมณ์
วงศ์แห่งโสตถิยสกุลทำไม
(ปุโรหิตเปรียบเทียบให้เข้าใจว่า)
[76] วิมานที่คลุมด้วยผ้าซึ่งย้อมด้วยสีต่าง ๆ
ผ้าเหล่านั้นมีแต่เงา สีที่ย้อมนั้นหาปรากฏไม่
[77] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน เมื่อใดคนทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์
เป็นผู้มีวัตรดีเพราะรู้ทั่วถึงธรรม
เมื่อนั้นพวกเขาย่อมปล่อยวางชาติของตนเสียได้
อุททาลกชาดกที่ 4 จบ

5. ภิสชาดก (488)
ว่าด้วยท้าวสักกะลักเหง้าบัวเพื่อลองใจฤๅษี
(อุปกัญจนดาบสสาบานว่า)
[78] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงได้ม้า โค เงิน ทอง และภรรยาที่น่าพอใจในโลกนี้
และจงเป็นผู้พรั่งพร้อมไปด้วยบุตรภรรยามากหลาย
(ดาบสผู้น้องชายคนที่ 2 เมื่อจะชำระตนให้หมดจด จึงสาบานว่า)
[79] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงทัดทรงระเบียบดอกไม้ นุ่งห่มผ้าแคว้นกาสี
ลูบไล้จุรณแก่นจันทน์ และเขาจงมีบุตรมาก ๆ
อนึ่ง จงทำความเยื่อใยอย่างแรงกล้าในกามทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :435 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [14. ปกิณณกนิบาต] 5. ภิสชาดก (488)
(ดาบสน้องชายที่เหลือต่างกล่าวสาบานว่า)
[80] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ผู้นั้นเป็นกสิกร จงมีข้าวเปลือกมากมาย
เป็นคฤหัสถ์ จงมียศ มีบุตรมากหลาย
มีทรัพย์ มีวัตถุที่น่าใคร่ทั้งปวง
อย่าได้เห็นความเสื่อม อยู่ครองเรือนเถิด
[81] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์
เป็นพระราชายิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลาย
ทรงมีพลัง ประกอบด้วยพระอิสริยยศ
ทรงครอบครองแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขตเถิด
[82] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ จงอย่าได้คลายความยินดี(ในตำแหน่ง)
เชี่ยวชาญในคลองแห่งฤกษ์ยามและนักษัตร
เจ้าผู้ครองแคว้นผู้ทรงยศ จงบูชาเขาเถิด
[83] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอชาวโลกทั้งปวงจงสำคัญผู้นั้นว่า
เป็นครูสอนเวทมนต์ทุกชนิด มีตบะ
ขอชาวชนบทจงมุ่งไปบูชาเขาพร้อม ๆ กัน
[84] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงเก็บกินบ้านส่วยที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยเหตุ 4 ประการ1
เหมือนท้าววาสวะประทานให้
จงอย่าได้คลายความกำหนัดจนกระทั่งตาย

เชิงอรรถ :
1 สมบูรณ์ด้วยเหตุ 4 ประการ คือ (1) ด้วยผู้คน เพราะมีผู้คนคับคั่ง (2) ด้วยข้าวเปลือก เพราะมี
ข้าวเปลือกมากมาย (3) ด้วยฟืนที่หาได้ง่าย (4) ด้วยน้ำ เพราะมีน้ำสมบูรณ์ (ขุ.ชา.อ. 6/84/267)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :436 }