เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [14. ปกิณณกนิบาต] 3. มหาอุกกุสชาดก (486)
(พ่อเต่ากล่าวกับลูกว่า)
[53] ลูกรัก จริงอยู่ การที่ลูกพึงช่วยเหลือ
บำเพ็ญประโยชน์แทนพ่อนั้น
เป็นธรรมของสัตบุรุษโดยแท้
บางทีพวกนายพรานเห็นพ่อซึ่งมีร่างกายใหญ่โต
ก็จะไม่พึงเบียดเบียนลูกนกน้อย ๆ ของพญาเหยี่ยว
(เหยี่ยวไปหาราชสีห์เมื่อถูกถาม จึงกล่าวว่า)
[54] ท่านผู้ประเสริฐกว่าเนื้อผู้กล้าหาญ
สัตว์ดิรัจฉานและมนุษย์เดือดร้อน
เพราะภยันตรายย่อมเข้าไปหาท่านผู้ประเสริฐ
ลูกน้อย ๆ ของข้าพเจ้ามีความเดือดร้อน
ข้าพเจ้าจึงมาหาท่านให้เป็นที่พึ่ง ท่านเป็นราชาของข้าพเจ้า
เพื่อความสุขของข้าพเจ้า ขอท่านจงเป็นที่พึ่งด้วยเถิด
(ราชสีห์ฟังแล้วกล่าวว่า)
[55] เหยี่ยว เราจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ท่าน
เรามาก็เพื่อจะฆ่าหมู่ศัตรูของท่าน
ธรรมดาวิญญูชนผู้มีความสามารถรู้อยู่
จะไม่พยายามคุ้มครองมิตรผู้เสมอด้วยตนได้อย่างไร
(แม่เหยี่ยวประกาศมิตตธรรมว่า)
[56] เพื่อบรรลุถึงความสุข บุคคลควรคบมิตรสหายผู้มีใจดี
และบุคคลผู้เป็นเจ้านาย
เราทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกับลูก ๆ บันเทิงใจอยู่
เหมือนคนสวมเกราะป้องกันลูกศร
[57] ลูกนกน้อย ๆ ส่งเสียงคูขันอยู่อย่างไพเราะจับใจ
ต้อนรับเราและท่านผู้กำลังคูขัน
เพราะการกระทำของมิตรสหายผู้ไม่หนีไปของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :431 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [14. ปกิณณกนิบาต] 4. อุททาลกชาดก (487)
[58] บัณฑิตนั้นได้มิตรสหายแล้วย่อมป้องกันลูก
ปศุสัตว์ หรือทรัพย์ไว้ได้
ข้าพเจ้า ลูก ๆ และสามีของข้าพเจ้อยู่พร้อมหน้ากัน
เพราะความช่วยเหลือของมิตรทั้งหลาย
[59] อันบุคคลผู้มีเจ้านายและเพื่อนผู้กล้าหาญอาจจะได้รับประโยชน์
สำหรับผู้ที่มีเพื่อนพรั่งพร้อมก็จะมีเพื่อนร่วมงานเช่นนี้
เขาก็จะมีมิตร มียศ มีความรุ่งเรือง บันเทิงใจอยู่ในโลกนี้ นะพี่ที่รัก
[60] พี่เสนกะ ควรจะผูกมิตรแม้กับคนยากจน ดูเถิด
พวกเรามาพร้อมเพรียงกับหมู่ญาติได้เพราะความช่วยเหลือของมิตร
[61] นกตัวใดผูกมิตรไว้กับมิตรผู้กล้าหาญและมิตรผู้มีกำลัง
นกตัวนั้นย่อมมีความสุขเหมือนอย่างฉันและท่าน นะพี่เสนกะ
มหาอุกกุสชาดกที่ 3 จบ

4. อุททาลกชาดก (487)
ว่าด้วยอุททาลกดาบส
(พระราชาทรงสนทนากับปุโรหิตว่า)
[62] ชฎิลเหล่าใดนุ่งห่มหนังสัตว์ที่ขรุขระ
มีขี้ฟันเขรอะ ร่างกายสกปรก สาธยายมนต์อยู่
ชฎิลเหล่านั้นประกอบหน้าที่การงานของมนุษย์
จะรู้แจ้งโลกนี้แล้วพ้นจากอบายได้หรือ
(ปุโรหิตกราบทูลว่า)
[63] ขอเดชะพระราชา หากบุคคลถึงจะเป็นพหูสูต
กระทำแต่กรรมชั่ว ก็ชื่อว่าไม่ประพฤติธรรม
เขาแม้จะมีพระเวทตั้งพัน อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น
แต่ไม่บรรลุจรณธรรม1 ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้

เชิงอรรถ :
1 จรณธรรม ในที่นี้ ได้แก่ สมาบัติ 8 (ขุ.ชา.อ. 6/63/254)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :432 }