เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [13. เตรสกนิบาต] 10. สรภมิคชาดก (483)
(พระราชาทรงชมเชยพระโพธิสัตว์แล้วตรัสว่า)
[128] พญาเนื้อรุรุ เจ้าไม่ประทุษร้ายต่อคนผู้ประทุษร้าย
แถมยังปล่อยให้คนชั่วช้ากลับไปบ้านได้ตามสบาย
นับว่าเป็นผู้หนึ่งในบรรดาสัตบุรุษทั้งหลายแน่นอน
เราจะให้สิ่งที่ได้พูดว่าจะให้แก่เขา
และจะให้เจ้าเที่ยวไปตามความพอใจด้วย
(ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์เมื่อจะลองหยั่งพระทัยพระราชา จึงได้กราบทูลว่า)
[129] ขอเดชะพระราชา เสียงเหล่าสุนัขจิ้งจอกเห่าหอนก็ดี
เสียงเหล่านกร้องขันก็ดี รู้ได้ง่าย
ส่วนถ้อยคำที่พวกมนุษย์เปล่งออกมา รู้ได้ยากกว่านั้น
[130] คนบางคนเบื้องต้นเป็นคนใจดี ย่อมนับถือกันว่า
เป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นเพื่อนอย่างนี้บ้าง
ภายหลังกลายเป็นศัตรูไปก็มี
(พระศาสดาทรงประกาศความข้อนั้นว่า)
[131] พวกชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกัน
ร้องทุกข์ว่า พวกเนื้อพากันมากินข้าวกล้า
ขอพระองค์ผู้สมมติเทพจงทรงห้ามหมู่เนื้อนั้น
(พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[132] ชนบทจงอย่ามีและแม้แว่นแคว้นจงพินาศไปก็ตามที
ส่วนเราให้อภัยทานแล้ว
จะไม่ประทุษร้ายพญาเนื้อรุรุอย่างเด็ดขาด
[133] ชนบทของเราจงอย่ามีและแว่นแคว้นของเราจงพินาศไป
ส่วนเราให้พรแก่พญาเนื้อแล้วจะไม่พูดมุสาเด็ดขาด
รุรุมิคราชชาดกที่ 9 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :418 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [13. เตรสกนิบาต] 10. สรภมิคชาดก (483)
10. สรภมิคชาดก (483)
ว่าด้วยละมั่งทำคุณแก่พระราชา
(พระเจ้าพรหมทัตมีพระทัยเปี่ยมด้วยปีติ ทรงเปล่งอุทานว่า)
[134] เป็นคนต้องหวังร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้
เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง
ปรารถนาอย่างใดก็ได้อย่างนั้น
[135] เป็นคนต้องหวังร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้
เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง
ถูกเขาช่วยให้ขึ้นจากน้ำมาบนบกได้
[136] เป็นคนต้องพยายามร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้
เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง
ปรารถนาอย่างไรก็ได้อย่างนั้น
[137] เป็นคนต้องพยายามร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้
เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง
ถูกเขาช่วยให้ขึ้นจากน้ำมาบนบกได้
[138] คนมีปัญญาแม้จะตกอยู่ในความทุกข์
ก็ไม่ควรสิ้นความหวัง เพื่อจะบรรลุถึงความสุข
เพราะว่าสัมผัส1มีอยู่มากมาย ทั้งที่ไม่มีประโยชน์และมีประโยชน์
ถึงจะไม่นึกคิดก็ต้องถึงความตาย
[139] สิ่งที่ไม่ได้คิดแล้วเป็นไปได้ก็มี
สิ่งที่คิดแล้วพินาศไปก็มี ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย
โภคะทั้งหลายสำเร็จได้เพราะความคิดไม่มีเลย

เชิงอรรถ :
1 สัมผัส คือ สิ่งที่กระทบถูกต้อง ผัสสะที่เป็นทุกข์ ถูกเข้าแล้วถึงตายก็มี ผัสสะที่เป็นสุข ถูกเข้าแล้ว
ทำให้มีชีวิตก็มี (ขุ.ชา.อ. 8/138/219)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :419 }