เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [13. เตรสกนิบาต] 8. ตักการิยชาดก (481)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[101] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
ขอมหาบพิตรอย่าเสด็จมาหาอาตมาอีกเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[102] นรชนชายหญิงทั้งหลายหวังอย่างยิ่งที่จะพบโยม
ด้วยการบำเพ็ญจริยาวัตรเป็นอันมาก
ในการเห็นโยมน่ากลัวนักหรือ
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[103] มหาบพิตรผู้มีวรรณะเหมือนวรรณะแห่งเทพ
บันดาลความใคร่ทั้งปวงให้สำเร็จได้เช่นนั้น
อาตมาพบเห็นแล้ว พึงประมาทการบำเพ็ญตบะ
สิ่งนั้นจึงเป็นภัยแก่อาตมาเพราะการพบเห็นมหาบพิตร
อกิตติชาดกที่ 7 จบ

8. ตักการิยชาดก (481)
ว่าด้วยตักการิยมาณพเตือนอาจารย์
(ปุโรหิตผู้เป็นอาจารย์สนทนากับพระโพธิสัตว์ผู้เป็นศิษย์ว่า)
[104] พ่อตักการิยะ ฉันนั่นแหละเป็นคนโง่ พูดคำชั่ว
เหมือนกบที่อยู่ในป่าเรียกหางูมากินตัวเอง
จะต้องตกไปยังหลุมนี้ การพูดเกินขอบเขตไม่ดีเลย
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[105] คนผู้พูดเกินขอบเขตย่อมประสบการจองจำ
การถูกฆ่า และความโศกเศร้า คร่ำครวญ
ท่านอาจารย์ ท่านควรตำหนิตนเอง
ตามเหตุที่คนทั้งหลายจะฝังท่านลงในหลุม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :413 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [13. เตรสกนิบาต] 8. ตักการิยชาดก (481)
(ลูกชายเศรษฐีกล่าวว่า)
[106] เราไปถามตุณฑิละทำไม
นางกาฬีนี้ซิ ควรทำกับน้องชายหล่อนเอง
เราถูกแย่งเสื้อผ้า และกลายเป็นชีเปลือยไป
แม้เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องของท่านอาจารย์มาก
(พระโพธิสัตว์แสดงเหตุอื่นอีกว่า)
[107] นกกุลิงคะตัวเองไม่ได้ต่อสู้กับใครเลย
แต่ไปบินอยู่ระหว่างแกะที่กำลังขวิดกัน
จึงถูกหัวแกะทั้ง 2 บดขยี้ท่ามกลางอากาศนั้น
แม้เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องของท่านอาจารย์มาก
[108] คน 4 คนเมื่อจะช่วยเหลือคนเพียงคนเดียวจึงพากันจับชายผ้า
พวกเขาทั้งหมด 4 คนจึงพากันศีรษะแตกนอนตายไป
แม้เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องของท่านอาจารย์มาก
[109] อุปมาเหมือนแม่แพะที่เขาผูกมัดไว้ที่พุ่มกอไผ่
คึกคะนอง ดีดเท้าไปกระทบมีดดาบ
จึงถูกเขาใช้มีดดาบเล่มนั้นเชือดคอของมัน
แม้เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องของท่านอาจารย์มาก
(พระราชาทรงกริ้วต่อนายพราน จึงตรัสว่า)
[110] กินนรเหล่านี้มิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์เทพบุตร
เป็นสัตว์พวกเนื้อ ตกอยู่ในอำนาจของเรา
พวกเจ้าจงย่างมันตัวหนึ่งในเวลาอาหารมื้อเย็น
อีกตัวหนึ่งจงย่างมันในเวลาอาหารมื้อเช้าต่อไป
(กินนรีรู้ว่าพระราชาทรงกริ้ว จึงกราบทูลว่า)
[111] คำทุพภาษิตนับแสนคำก็ไม่ถึงแม้เสี้ยวหนึ่งแห่งคำสุภาษิต
กินนรรังเกียจคำทุพภาษิตจึงเศร้าหมอง
เพราะเหตุนั้น พวกกินนรจึงนิ่งเฉย มิใช่เพราะความโง่เขลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :414 }