เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [13. เตรสกนิบาต] 8. ตักการิยชาดก (481)
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[95] พระคุณเจ้ากัสสปะ นักปราชญ์ได้ทำอะไรแก่พระคุณเจ้าหรือ
ขอจงบอกเหตุ เพราะเหตุไร
พระคุณเจ้าจึงต้องการพบเห็นนักปราชญ์
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[96] นักปราชญ์ผู้มีปัญญาย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ
ไม่ชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำดีเป็นสิ่งประเสริฐของเขา
เขาถูกว่ากล่าวโดยชอบก็ไม่โกรธ
นักปราชญ์นั้นรู้วินัย การสมาคมกับท่านเป็นการดี
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[97] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[98] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
เมื่อราตรีนั้นสิ้นไป ในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น
ขอภักษาอันเป็นทิพย์และยาจกผู้มีศีลพึงปรากฏ
[99] ขอถวายพระพร เมื่ออาตมาให้อยู่ ขอภักษาอย่าพึงหมดสิ้นไป
ครั้นให้แล้ว ขออาตมาอย่าพึงเดือดร้อนในภายหลัง
ขณะกำลังให้ ก็พึงทำจิตให้เลื่อมใส
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[100] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :412 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [13. เตรสกนิบาต] 8. ตักการิยชาดก (481)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[101] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
ขอมหาบพิตรอย่าเสด็จมาหาอาตมาอีกเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[102] นรชนชายหญิงทั้งหลายหวังอย่างยิ่งที่จะพบโยม
ด้วยการบำเพ็ญจริยาวัตรเป็นอันมาก
ในการเห็นโยมน่ากลัวนักหรือ
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[103] มหาบพิตรผู้มีวรรณะเหมือนวรรณะแห่งเทพ
บันดาลความใคร่ทั้งปวงให้สำเร็จได้เช่นนั้น
อาตมาพบเห็นแล้ว พึงประมาทการบำเพ็ญตบะ
สิ่งนั้นจึงเป็นภัยแก่อาตมาเพราะการพบเห็นมหาบพิตร
อกิตติชาดกที่ 7 จบ

8. ตักการิยชาดก (481)
ว่าด้วยตักการิยมาณพเตือนอาจารย์
(ปุโรหิตผู้เป็นอาจารย์สนทนากับพระโพธิสัตว์ผู้เป็นศิษย์ว่า)
[104] พ่อตักการิยะ ฉันนั่นแหละเป็นคนโง่ พูดคำชั่ว
เหมือนกบที่อยู่ในป่าเรียกหางูมากินตัวเอง
จะต้องตกไปยังหลุมนี้ การพูดเกินขอบเขตไม่ดีเลย
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[105] คนผู้พูดเกินขอบเขตย่อมประสบการจองจำ
การถูกฆ่า และความโศกเศร้า คร่ำครวญ
ท่านอาจารย์ ท่านควรตำหนิตนเอง
ตามเหตุที่คนทั้งหลายจะฝังท่านลงในหลุม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :413 }