เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [13. เตรสกนิบาต] 7. อกิตติชาดก (480)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[90] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
ขอให้อาตมาไม่พึงพบเห็นคนพาล ไม่พึงได้ยิน
ไม่พึงอยู่ร่วมกับคนพาล ไม่พึงทำการเจรจาปราศรัย
และไม่พึงพอใจการเจรจาปราศรัยกับคนพาลเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[91] พระคุณเจ้ากัสสปะ คนพาลได้ทำอะไรแก่พระคุณเจ้าหรือ
ขอจงบอกเหตุ เพราะเหตุไร
พระคุณเจ้าจึงไม่ต้องการพบเห็นคนพาล
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[92] คนพาลมีปัญญาทราม ย่อมแนะนำสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ
ชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ
การแนะนำชั่วเป็นสิ่งที่ประเสริฐสำหรับเขา
เขาถูกว่ากล่าวโดยชอบก็โกรธ คนพาลนั้นไม่รู้วินัย
การไม่พบเห็นเขาเสียได้เป็นการดี
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[93] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[94] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
ขอให้อาตมาพึงได้พบ พึงได้ยิน พึงได้อยู่ร่วมกับนักปราชญ์
พึงได้เจรจาปราศรัยและพอใจการเจรจาปราศรัยกับนักปราชญ์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :411 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [13. เตรสกนิบาต] 8. ตักการิยชาดก (481)
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[95] พระคุณเจ้ากัสสปะ นักปราชญ์ได้ทำอะไรแก่พระคุณเจ้าหรือ
ขอจงบอกเหตุ เพราะเหตุไร
พระคุณเจ้าจึงต้องการพบเห็นนักปราชญ์
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[96] นักปราชญ์ผู้มีปัญญาย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ
ไม่ชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำดีเป็นสิ่งประเสริฐของเขา
เขาถูกว่ากล่าวโดยชอบก็ไม่โกรธ
นักปราชญ์นั้นรู้วินัย การสมาคมกับท่านเป็นการดี
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[97] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[98] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
เมื่อราตรีนั้นสิ้นไป ในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น
ขอภักษาอันเป็นทิพย์และยาจกผู้มีศีลพึงปรากฏ
[99] ขอถวายพระพร เมื่ออาตมาให้อยู่ ขอภักษาอย่าพึงหมดสิ้นไป
ครั้นให้แล้ว ขออาตมาอย่าพึงเดือดร้อนในภายหลัง
ขณะกำลังให้ ก็พึงทำจิตให้เลื่อมใส
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[100] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :412 }