เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [13. เตรสกนิบาต] 4. จูฬนารทกัสสปชาดก (477)
[34] ใจจดจ่ออยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแม้จะอยู่ไกลกันก็เหมือนอยู่ใกล้
ใจเหินห่างจากผู้ใด ผู้นั้นแม้จะอยู่ใกล้ก็เหมือนอยู่ไกล
[35] สหายผู้มีจิตเลื่อมใส ถึงจะอยู่ยังฟากฝั่งสมุทร
ถ้ามีจิตเลื่อมใสต่อกัน ก็ชื่อว่าอยู่ใกล้กัน
ส่วนสหายผู้มีจิตคิดประทุษร้ายถึงจะอยู่ใกล้
ถ้ามีจิตคิดประทุษร้ายต่อกัน
ก็ชื่อว่าอยู่ยังฟากฝั่งสมุทร
[36] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมทัพ ผู้ผดุงรัฐให้เจริญ
ศัตรูถึงจะอยู่ร่วมกัน ก็ชื่อว่าอยู่ห่างไกลกัน
ส่วนบัณฑิตถึงจะอยู่ไกลกัน
ก็ชื่อว่าอยู่ใกล้ เพราะมีใจนึกถึงกัน
[37] เพราะการอยู่ร่วมกันนานเกินไป
คนที่รักกันก็จะกลายเป็นไม่รักกัน
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอทูลลาไป
ก่อนที่จะไม่เป็นที่รักของพระองค์
(พระราชาตรัสกับพระโพธิสัตว์ว่า)
[38] หากการประคองอัญชลีของข้าพเจ้าผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้
ท่านไม่ทราบและไม่ทำตามคำของข้าพเจ้าผู้ปรนนิบัติอยู่อย่างนี้
เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าขอร้องท่านว่า โปรดแวะเวียนมาอีก
(ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[39] ขอเดชะพระมหาราช ผู้ผดุงรัฐให้เจริญ
หากเราทั้งหลายยังอยู่ปกติอย่างนี้
แม้พระองค์และข้าพระองค์ก็จักไม่มีอันตราย
วันคืนต่อ ๆ ไป เราคงจะได้พบกันบ้างหรอก
ชวนหังสชาดกที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :402 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [13. เตรสกนิบาต] 4. จูฬนารทกัสสปชาดก (477)
4. จูฬนารทกัสสปชาดก (477)
ว่าด้วยกัสสปดาบสสอนจูฬนารทดาบส
(พระโพธิสัตว์ถามลูกชายว่า)
[40] ฟืนลูกก็มิได้ผ่า น้ำลูกก็มิได้ตัก
แม้ไฟลูกก็มิได้ก่อให้โพลงขึ้น
ทำไมหนอ ลูกจึงซบเซาเหมือนคนปัญญาอ่อน
(ดาบสกุมารตอบว่า)
[41] พ่อกัสสปะ ลูกหมดความพยายามที่จะอยู่ป่าต่อไป
ขอกราบลาพ่อ การอยู่ในป่าลำบาก
ลูกต้องการจะไปยังเมือง
[42] พ่อพราหมณ์ ลูกไปจากที่นี้แล้ว
ไปอยู่ชนบทใดชนบทหนึ่ง
พึงศึกษาอาจาระอันเป็นประเพณีที่ควรศึกษา1
ขอพ่อกรุณาสอนธรรม2นั้นให้ลูกด้วย
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[43] ถ้าลูกทิ้งป่าและมูลผลาหารในป่า
พอใจการอยู่ในเมือง
ลูกจงตั้งใจฟังธรรมนั้นจากพ่อ
[44] อย่าเสพของมีพิษ 1 จงเว้นเหวให้ห่างไกล 1
อย่าจมลงในเปือกตม 1 พึงระมัดระวังเมื่ออยู่ใกล้อสรพิษ 1
(ดาบสกุมารเมื่อไม่รู้ความหมายของคำที่พ่อกล่าวโดยย่อ จึงถามว่า)
[45] อะไรหนอคือของมีพิษ เหว
หรือเปือกตม สำหรับผู้ประพฤติพรหมจรรย์
อะไรที่พ่อกล่าวว่า เป็นอสรพิษ
ลูกถามแล้ว ขอพ่อจงบอกเรื่องนั้น

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงมารยาทซึ่งเป็นจารีตประเพณีที่ควรศึกษาของสถานที่นั้น (ขุ.ชา.อ. 6/42/161)
2 ธรรม หมายถึงจารีตประเพณีของชาวชนบทนั้น (ขุ.ชา.อ. 6/43/161)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :403 }