เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [13. เตรสกนิบาต] 3. ชวนหังสชาดก (476)
[23] ด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้ ไม้สะคร้อยุให้คนฆ่าหมี
ส่วนหมียุให้คนโค่นต้นสะคร้อ
เพราะการวิวาทกันและกัน ต่างคนต่างยุให้ฆ่ากันและกัน คือ
[24] พวกมนุษย์เกิดการทะเลาะกันขึ้นที่ใด
ที่นั้นมนุษย์ทั้งหลายก็เปิดเผยความลับเหมือนนกยูงรำแพน
และเหมือนหมีกับไม้สะคร้อเหล่านั้น
[25] เพราะเหตุนั้น ตถาคตขอถวายพระพรมหาบพิตรทั้งหลาย
ขอมหาบพิตรทั้งหลายทรงพระเจริญ
ตราบเท่าที่ทรงสมาคมกัน ณ สถานที่นี้
ขอทรงรื่นเริงบันเทิงพระทัย อย่าทรงวิวาทกัน
อย่าทรงเป็นเหมือนหมีกับไม้สะคร้อเลย
[26] ขอมหาบพิตรทั้งหลายทรงสำเหนียกถึงความสามัคคีนั้น
ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญแล้ว
บุคคลผู้ยินดีแล้วในความสามัคคี ดำรงอยู่ในธรรม
ย่อมไม่เสื่อมจากนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ผันทนชาดกที่ 2 จบ

3. ชวนหังสชาดก (476)
ว่าด้วยพญาชวนหงส์
(พระราชาทรงเชื้อเชิญชวนพญาหงส์โพธิสัตว์ว่า)
[27] เจ้าจับอยู่ที่ตั่งทองนี้แหละพญาหงส์
ข้าพเจ้ารักที่จะเห็นท่าน
ท่านมาเป็นเจ้าของสถานที่นี้แล้ว
สิ่งที่มีอยู่ในพระราชนิเวศน์นี้
ท่านไม่รังเกียจ จงบอกมาให้เราทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :400 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [13. เตรสกนิบาต] 3. ชวนหังสชาดก (476)
(และทรงขอร้องว่า)
[28] เพราะการฟัง คนบางหมู่จึงเป็นที่รักของคนบางคน
เพราะได้เห็น ความพอใจของคนบางคนจึงเสื่อมคลาย
เพราะได้เห็นและเพราะได้ฟัง คนบางหมู่จึงเป็นที่รัก
เพราะการเห็น ท่านรักใคร่ข้าพเจ้าบ้างไหม
[29] เพราะการฟัง ท่านจึงเป็นที่รักของข้าพเจ้า
และเป็นที่รักยิ่ง เพราะได้มาพบกัน
พญาหงส์ ท่านเป็นที่น่ารักน่าดูอย่างนี้สำหรับข้าพเจ้า
ขอท่านจงอยู่ใกล้ ๆ ข้าพเจ้าเถิด
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[30] ข้าพเจ้าได้รับสักการบูชาอยู่เป็นนิตย์
พึงอยู่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์
แต่บางคราวพระองค์ทรงมึนเมา
จะพึงตรัสว่า จงย่างพญาหงส์ให้เรา
(พระราชาตรัสให้ปฏิญาณว่า)
[31] น่าติเตียนจริง การดื่มน้ำเมา
ซึ่งเป็นที่พอใจของข้าพเจ้ายิ่งกว่าท่าน
เอาเถิด ข้าพเจ้าจะไม่ดื่มน้ำเมา
ตลอดเวลาที่ท่านอยู่ในนิเวศน์ของข้าพเจ้า
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[32] ขอเดชะพระราชา เสียงเหล่าสุนัขจิ้งจอกเห่าหอนก็ดี
เสียงเหล่านกร้องขันก็ดี รู้ได้ง่าย
ส่วนถ้อยคำที่พวกมนุษย์เปล่งออกมา รู้ได้ยากกว่านั้น
[33] คนบางคนเบื้องต้นเป็นคนใจดี ย่อมนับถือกันว่า
เป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นเพื่อนอย่างนี้บ้าง
ภายหลังกลายเป็นศัตรูไปก็มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :401 }