เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [1. เอกกนิบาต] 1. อปัณณกวรรค 10. สุขวิหาริชาดก (10)
8. คามณิชาดก (8)
ว่าด้วยคามณิกุมาร
(คามณิกุมารเปล่งอุทานว่า)
[8] เออก็ ผลที่หวังจะสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้
เรามีพรหมจรรย์แก่กล้าแล้ว
ท่านจงเข้าใจดังนี้เถิด พ่อคามณิ
คามณิชาดกที่ 8 จบ

9. มฆเทวชาดก (9)
ว่าด้วยพระเจ้ามฆเทวะ
(พระราชาทรงจับพระเกสาหงอกแล้ว ตรัสแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า)
[9] เมื่อวัยล่วงเลยไป ผมบนศีรษะของเราก็หงอก
เทวทูตก็ปรากฏชัด บัดนี้เป็นเวลาที่เราควรจะบวช
มฆเทวชาดกที่ 9 จบ

10. สุขวิหาริชาดก (10)
ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข
(ฤๅษีโพธิสัตว์แสดงธรรมถวายพระราชาว่า)
[10] บุคคลเหล่าอื่นไม่ต้องรักษาคุ้มครองผู้ใด
และผู้ใดก็ไม่ต้องรักษาคุ้มครองบุคคลเหล่าอื่น
มหาบพิตร ผู้นั้นแหละไม่เยื่อใยในกามทั้งหลาย
ย่อมอยู่เป็นสุข
สุขวิหาริชาดกที่ 10 จบ
อปัณณกวรรคที่ 1 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :4 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [1. เอกกนิบาต] 2. สีลวรรค 2. นิโครธมิคชาดก (12)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
1. อปัณณกชาดก 2. วัณณุปถชาดก
3. เสริววาณิชชาดก 4. จูฬเสฏฐิชาดก
5. ตัณฑุลนาฬิชาดก 6. เทวธัมมชาดก
7. กัฏฐหาริชาดก 8. คามณิชาดก
9. มฆเทวชาดก 10. สุขวิหาริชาดก

2. สีลวรรค
หมวดว่าด้วยศีล
1. ลักขณชาดก (11)
ว่าด้วยเนื้อชื่อลักขณะ
(พญาเนื้อโพธิสัตว์เห็นลูกทั้ง 2 กำลังมา จึงกล่าวกับหมู่ญาติว่า)
[11] ประโยชน์1ย่อมมีแก่ผู้มีศีล ผู้กระทำการต้อนรับเป็นปกติ
เธอจงดูลูกเนื้อชื่อลักขณะ ที่หมู่ญาติแวดล้อมกลับมา
และจงดูลูกเนื้อชื่อกาฬะนี้ที่เสื่อมจากหมู่ญาติ
ลักขณชาดกที่ 1 จบ

2. นิโครธมิคชาดก (12)
ว่าด้วยพญาเนื้อชื่อนิโครธ
(แม่เนื้อเห็นลูกกำลังจะไปยังที่อยู่ของเนื้อสาขะ จึงกล่าวสอนว่า)

เชิงอรรถ :
1 ประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงความเจริญ (ขุ.ชา.อ. 1/11/204)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :5 }