เมนู

13. เตรสกนิบาต
1. อัมพชาดก (474)
ว่าด้วยมนต์เสกมะม่วง
(พระราชาตรัสถามคนเฝ้าสวนมะม่วงว่า)
[1] ท่านพรหมจารี1 เมื่อก่อน
ท่านได้นำผลมะม่วงน้อยใหญ่มาให้เรา
บัดนี้ ผลไม้ทั้งหลายไม่ปรากฏด้วยมนต์เหล่านั้น
ของท่านเลยหรือ ท่านพราหมณ์
(มาณพกราบทูลว่า)
[2] ข้าพระองค์กำลังคำนวณการโคจรของดาวฤกษ์
ยังไม่เห็นฤกษ์ยามปรากฏในมนต์เลย
ครั้นได้การโคจรของดาวฤกษ์และฤกษ์ยามแล้ว
ข้าพระองค์จักนำผลมะม่วงมากมายมาถวายได้อย่างแน่นอน
(พระราชาตรัสถามว่า)
[3] เมื่อก่อน ท่านไม่พูดถึงการโคจรของดาวฤกษ์เลย
ไม่ได้อ้างถึงฤกษ์ยามเลย
ได้นำผลมะม่วงที่มีสีงาม กลิ่นหอม รสอร่อย
จำนวนมากมายมาให้เราด้วยตนเอง
[4] แม้เมื่อก่อน ด้วยการร่ายมนต์ของท่าน
ผลไม้ทั้งหลายก็ปรากฏมี ท่านพราหมณ์
แต่วันนี้ ท่านนั้นแม้จะร่ายมนต์อยู่ ก็ไม่สามารถจะให้สำเร็จได้
สภาพของท่านนั้น มันเกิดอะไรขึ้นวันนี้

เชิงอรรถ :
1 ท่านพรหมจารี หมายถึงท่านผู้เรียนพระเวท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :396 }


1. อัมพชาดก (474)
(มาณพกราบทูลว่า)
[5] บุตรคนจัณฑาลได้มอบมนต์ให้แก่ข้าพระองค์โดยถูกต้อง
และบอกสาเหตุที่ทำให้มนต์เสื่อมไว้ว่า
ถ้ามีใครมาถามถึงชื่อและโคตรของเราแล้วเจ้าอย่าปกปิด
ถ้าปกปิดความจริง มนต์ก็จะเสื่อมไป
[6] ข้าพระองค์นั้นถูกพระองค์ผู้เป็นจอมชนตรัสถามขึ้นในหมู่ชน
เกิดความลบหลู่ครอบงำแล้วจึงได้กราบทูลความพลั้งพลาดไปว่า
มนต์เหล่านี้เป็นของพราหมณ์ ดังนั้น
ข้าพระองค์มีมนต์เสื่อมเสียแล้ว จึงเป็นคนน่าสงสารร้องไห้อยู่
(พระราชาทรงติเตียนมาณพนั้นว่า)
[7] คนผู้ต้องการน้ำหวานพึงได้น้ำหวานจากต้นไม้ใด
จะเป็นต้นละหุ่งก็ตาม ต้นสะเดาก็ตาม หรือต้นทองกวาวก็ตาม
ต้นไม้นั้นแลเป็นต้นไม้ดีที่สุดของเขา
[8] บุคคลพึงรู้แจ้งธรรมจากผู้ใด จะเป็นกษัตริย์
พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล หรือคนเทขยะก็ตาม
ผู้นั้นแลเป็นคนสูงสุดของเขา
[9] ท่านทั้งหลายจงทำโทษ เฆี่ยนตี แล้วจงจับคอเจ้าคนชั่ว
ผู้ที่ยังประโยชน์อันสูงสุดซึ่งตนได้มาแสนยากให้พินาศไป
เพราะความเย่อหยิ่งและดูหมิ่นคน ไสหัวออกไป
(มาณพกล่าวขอเรียนมนต์ใหม่กับอาจารย์ว่า)
[10] บุรุษสำคัญพื้นที่ว่าเรียบ พึงตกบ่อ ตกถ้ำ ตกเหว
ตกหลุมรากไม้ผุ หรือว่าคนตาบอดสำคัญว่าเชือก
พึงเหยียบงูเห่า เหยียบไฟฉันใด ท่านผู้มีปัญญาพึงรับทราบว่า
ข้าพเจ้าพลั้งพลาดไปแล้วฉันนั้นเหมือนกัน ท่านอาจารย์ทราบแล้ว
จงมอบมนต์ให้แก่ข้าพเจ้าผู้มีมนต์เสื่อมแล้วอีกเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :397 }