เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 10. มิตตามิตตชาดก (473)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[119] กาม อาตมากล่าวว่า เป็นเบ็ด
ช้างและม้า อาตมากล่าวว่า เป็นเบ็ดที่เปื้อนโลหิต
การสละได้แล้ว อาตมากล่าวว่า ดึงออกมาแล้ว
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด จอมกษัตริย์
(พระศาสดาทรงประมวลชาดกด้วยคาถาสุดท้ายว่า)
[120] พระราชมารดา (เลี้ยง) เป็นนางจิญจมาณวิกา
พระราชบิดาของอาตมาเป็นพระเทวทัต
พญานาคเป็นอานนท์ผู้เป็นบัณฑิต
เทวดาเป็นพระสารีบุตร
พระราชบุตรคือตถาคต
ขอเธอทั้งหลายทรงจำชาดกไว้อย่างนี้
มหาปทุมชาดกที่ 9 จบ

10. มิตตามิตตชาดก (473)
ว่าด้วยลักษณะมิตรและผู้มิใช่มิตร
(พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[121] วิญญูชนผู้เป็นนักปราชญ์ เป็นบัณฑิต
เห็นหรือได้ยินผู้ทำการงานอะไรบ้าง
หรือพึงพยายามอย่างไร จึงจะรู้ว่า ผู้นี้ไม่ใช่มิตร
(พระโพธิสัตว์กราบทูลลักษณะผู้มิใช่มิตรว่า)
[122] คนผู้มิใช่มิตร คือ เห็นเพื่อนแล้วไม่ยิ้มแย้ม 1
ไม่ยินดีจะสนทนากับเพื่อน 1 ไม่สบตาเพื่อน 1 พูดต่อต้าน 1
[123] คบศัตรูของเพื่อน 1 ไม่คบเพื่อนของเพื่อน 1
ห้ามปรามคนที่สรรเสริญเพื่อน 1 สรรเสริญคนที่ด่าเพื่อน 1

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :393 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 10. มิตตามิตตชาดก (473)
[124] ไม่บอกความลับแก่เพื่อน 1
ไม่ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน 1
ไม่ยกย่องการกระทำของเพื่อน 1
ไม่สรรเสริญปัญญาของเพื่อน 1
[125] เมื่อเพื่อนฉิบหายกลับพอใจ 1 เมื่อเพื่อนเจริญกลับไม่พอใจ 1
ได้อาหารที่มีรสแปลกมาก็ไม่นึกถึงเพื่อน 1
แต่นั้น ย่อมจะไม่อนุเคราะห์เพื่อนว่า
อย่างไรหนอ เพื่อนเราพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง 1
[126] อาการ 16 ข้อดังกล่าวมานี้มีอยู่แล้วในคนที่มิใช่มิตร
พึงเป็นเหตุให้บัณฑิตได้เห็นและได้ยินแล้วรู้ได้ว่ามิใช่มิตร
(พระโพธิสัตว์กราบทูลลักษณะของมิตรว่า)
[127] วิญญูชนผู้เป็นนักปราชญ์ เป็นบัณฑิต
เห็นหรือได้ยินผู้ทำการงานอะไรบ้าง
หรือชนพึงพยายามอย่างไรจึงรู้ว่า ผู้นั้นเป็นมิตร
(ได้กล่าวคาถาที่เหลือว่า)
[128] คนผู้เป็นมิตร คือ เพื่อนจากไปก็คิดถึง 1
เพื่อนกลับมาก็ยินดี 1 หยอกล้อยิ้มย่องต่อเพื่อน 1
ยินดีตอบสนองด้วยวาจาที่ไพเราะ 1
[129] คบเพื่อนของเพื่อนฝ่ายเดียว 1 ไม่คบศัตรูของเพื่อน 1
ห้ามปรามคนที่ด่าเพื่อน 1 สรรเสริญคนที่ยกย่องเพื่อน 1
[130] บอกความลับแก่เพื่อน 1 ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน 1
ยกย่องการกระทำของเพื่อน 1 สรรเสริญปัญญาของเพื่อน 1
[131] เมื่อเพื่อนเจริญก็ยินดี 1 เมื่อเพื่อนฉิบหายก็ไม่ยินดี 1
ได้อาหารที่มีรสแปลกมาก็นึกถึงเพื่อน 1
แต่นั้น ย่อมจะอนุเคราะห์เพื่อนว่า
อย่างไรหนอ เพื่อนจะได้ลาภจากที่นี้บ้าง 1

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :394 }