เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 9. มหาปทุมชาดก (472)
(เวทินทบัณฑิตกล่าวคาถาตามแนวที่ตนเรียนมาว่า)
[101] แพะกินหญ้ากินใบไม้
แต่สุนัขไม่กินหญ้าไม่กินใบไม้
สุนัขจับกระต่ายและแมวกิน
เมื่อเป็นเช่นนั้น แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกัน
(มโหสธบัณฑิตเฉลยปัญหาที่ปรากฏแจ่มแจ้งแก่ตนว่า)
[102] แพะมี 4 เท้า 8 กีบ 8 เล็บ
สุนัขนี้แฝงกายนำหญ้ามาเพื่อแพะตัวนี้
ส่วนแพะนี้แฝงกายนำเนื้อมาเพื่อสุนัขตัวโน้น
[103] นัยว่า พระองค์ผู้จอมเทพประเสริฐกว่าชาววิเทหะ
ประทับอยู่ ณ ปราสาทอันประเสริฐ
ได้ทอดพระเนตรการแลกเปลี่ยนอาหารของกันและกันโดยประจักษ์
และนั่นเสียงเห่าของสุนัขต่อหน้าแพะ
(พระราชาตรัสว่า)
[104] เป็นลาภของเรามิใช่น้อยหนอ
ที่มีบัณฑิตเช่นนี้อยู่ในราชสกุล
ปราชญ์ทั้งหลายรู้แจ้งเนื้อความแห่งปัญหา
อันละเอียดลึกซึ้งได้โดยตลอด
และกล่าวด้วยถ้อยคำอันเป็นสุภาษิต
(และตรัสอีกว่า)
[105] เรามีความพอใจอย่างยิ่งด้วยถ้อยคำอันเป็นสุภาษิต
เราให้รถเทียมม้าอัสดรคนละคัน
บ้านส่วยที่มั่งคั่งคนละ 1 ตำบล
แก่ท่านผู้เป็นบัณฑิตทุกคน
เมณฑกปัญหชาดกที่ 8 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :390 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 9. มหาปทุมชาดก (472)
9. มหาปทุมชาดก (472)
ว่าด้วยมหาปทุมกุมาร
(พวกผู้ใหญ่มีกษัตริย์มหาศาลเป็นต้นตลอดจนอำมาตย์ราชเสวกได้กราบทูลว่า)
[106] โทษน้อยใหญ่ของผู้อื่นทั้งหมดที่ยังมิได้เห็น
มิได้พิจารณาด้วยตนเอง ผู้ใหญ่ไม่ควรลงทัณฑ์
[107] ส่วนผู้ใดเป็นกษัตริย์ยังมิได้ทรงพิจารณาแล้วทรงลงอาชญา
ผู้นั้นชื่อว่ากลืนโภชนาหารพร้อมทั้งหนาม
เหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด กลืนกินอาหารที่มีแมลงวัน
[108] พระราชาพระองค์ใดลงอาชญาบุคคลผู้ไม่ควรจะลงอาชญา
ไม่ลงอาชญาบุคคลผู้ควรลงอาชญา
พระราชาพระองค์นั้นไม่รู้สิ่งสมควรหรือไม่สมควร
เหมือนคนตาบอดเดินทางที่ขรุขระ
[109] อนึ่ง ฐานะน้อยใหญ่ทั้งหมดเหล่านี้
พระราชาพระองค์ใดเห็นชัดเจนดีแล้วสั่งการลงไป
พระราชาพระองค์นั้นสมควรจะปกครองราชสมบัติได้
[110] พระราชาผู้อ่อนโยนอย่างเดียวหรือผู้แข็งกร้าวอย่างเดียว
ไม่สามารถจะดำรงตนอยู่ในฐานะอันยิ่งใหญ่ได้
เพราะเหตุนั้น พึงประพฤติทั้ง 2 ประการ
[111] พระราชาผู้อ่อนโยนก็อาจจะถูกดูหมิ่น
ผู้แข็งกร้าวก็อาจจะมีศัตรู
ครั้นทราบเหตุทั้ง 2 อย่างนี้แล้ว
พึงประพฤติพอสมควรเป็นกลาง ๆ ไว้
[112] คนมีความกำหนัดพึงพูดมาก ถึงคนมีความโกรธก็พูดมาก
ขอเดชะมหาราช พระองค์ไม่ควรให้ปลงพระชนม์พระราชโอรส
เพราะเหตุแห่งหญิงเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :391 }