เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 8. เมณฑกปัญหชาดก (471)
(เพื่อจะแสดงว่าบุคคลผู้ดำรงอยู่ในธรรมได้บังเกิดในเทวโลก จึงตรัสว่า)
[89] คนผู้หวังสุคติเหล่านี้ บางพวกดำรงอยู่ในธรรม
คือความสำรวมและการจำแนกแจกทาน
เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ตายไปก็ไปสุคติ
[90] ท่านเป็นญาติของพวกเราเมื่อชาติก่อน
แต่ท่านนั้นเป็นคนตระหนี่ ขี้โกรธ มีธรรมเลวทราม
พวกเรามาที่นี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ท่านนั่นเอง
ท่านอย่ามีธรรมเลวทรามไปตกนรกเลย
(โกสิยเศรษฐีมีจิตยินดีกล่าวว่า)
[91] พวกท่านหวังเกื้อกูลข้าพเจ้าอย่างแน่แท้จึงได้พร่ำสอนข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะทำตามคำที่พวกท่านผู้หวังเกื้อกูลกล่าวทุกประการ
[92] ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้านั้นจะของดเว้น
จากความตระหนี่ จะไม่ทำบาปอะไร ๆ อีก
อนึ่ง วัตถุอะไร ๆ ที่ไม่พึงให้จะไม่มีแก่ข้าพเจ้า
แม้แต่น้ำข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้แล้วก็จะไม่ยอมดื่ม
[93] ข้าแต่ท้าวสักกะ ก็เมื่อข้าพเจ้าให้อยู่ตลอดกาลทั้งปวงอย่างนี้
แม้โภคะของข้าพเจ้าจักหมดสิ้นไป ข้าแต่ท้าวสักกะ
ต่อแต่นี้ข้าพเจ้าจะละกามทั้งหลายตามที่มีอยู่แล้วบวช
โกสิยชาดกที่ 7 จบ

8. เมณฑกปัญหชาดก (471)
ว่าด้วยปัญหาเรื่องแพะเป็นเพื่อนกับสุนัข
(พระราชาตรัสถามปัญหาว่า)
[94] แต่ไหนแต่ไรมา ความเป็นเพื่อนกันแม้เพียงการย่างก้าวเดินไป
7 ก้าวของสัตว์เหล่าใดไม่เคยมีมาแล้วในโลกนี้
สัตว์เหล่านั้น 2 ตัว ซึ่งเป็นศัตรูกันกลับเป็นสหายกัน
ประพฤติเกี่ยวเนื่องกันเพราะเหตุไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :388 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 8. เมณฑกปัญหชาดก (471)
(และตรัสต่อไปว่า)
[95] ถ้าว่าในเวลาอาหารเช้าของเราในวันนี้
พวกท่านไม่สามารถจะกล่าวแก้ปัญหาข้อนี้ได้
เราจะเนรเทศพวกท่านทั้งหมดออกจากแคว้น
เพราะเราไม่ต้องการพวกคนมีปัญญาทราม
(เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
[96] เมื่อมหาชนมาประชุมกันอึกทึกครึกโครม
เมื่อคนมาร่วมกันเป็นโกลาหล
พวกข้าพระองค์ก็มีใจฟุ้งซ่าน มีจิตไม่แน่วแน่
จึงไม่สามารถจะกล่าวแก้ปัญหาข้อนี้ได้
[97] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน
นักปราชญ์ทั้งหลายมีจิตแน่วแน่ไปในที่ลับตามลำพัง
คิดพิจารณาถึงเนื้อความในที่สงัดแล้ว
ภายหลังจึงจะกล่าวตอบเนื้อความข้อนี้ได้
(เสนกบัณฑิตนั้นกล่าวคาถาตามแนวที่ตนเรียนมาว่า)
[98] พวกบุตรของคนชั้นสูงและพวกราชบุตรโปรดปรานพอใจเนื้อแพะ
พวกเขาไม่บริโภคเนื้อสุนัข
เมื่อเป็นเช่นนั้น แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกัน
(ปุกกุสบัณฑิตกล่าวคาถาตามแนวที่ตนเรียนมาว่า)
[99] ชนทั้งหลายถลกหนังแพะทำเป็นเครื่องลาดหลังม้า
เพราะนั่งสบาย แต่พวกเขาไม่ลาดด้วยหนังสุนัข
เมื่อเป็นเช่นนั้น แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกัน
(กามินทบัณฑิตกล่าวคาถาตามแนวที่ตนเรียนมาว่า)
[100] ก็แพะมีเขาโค้งและมีหญ้าเป็นภักษา
ส่วนสุนัขไม่มีเขาและกินเนื้อ
เมื่อเป็นเช่นนั้น แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :389 }