เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 7. โกสิยชาดก (470)
(จันทเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[76] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นเป็นโมฆะ
แม้ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบ1ของผู้นั้นก็เป็นโมฆะ
[77] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า
ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ
ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข
(สุริยเทพเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[78] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วไม่บริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นย่อมมีผลจริง
แม้ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบของผู้นั้นก็มีผลจริง
[79] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกท่านว่า
ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ
ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข
(มาตลิเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[80] ก็บุคคลเข้าไปยังแหล่งน้ำบางแห่งแล้วบูชาที่แม่น้ำหลายสายบ้าง
ที่สระโบกขรณีชื่อคยาบ้าง ที่ท่าน้ำชื่อโทณะ
และท่าน้ำชื่อติมพรุบ้าง ที่ห้วงน้ำใหญ่ซึ่งมีกระแสเชี่ยวบ้าง
[81] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วไม่บริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นในที่นั้น
และความเพียรที่ตั้งไว้ชอบของเขาในที่นั้นย่อมมีผล
[82] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกท่านว่า
ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ
ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข

เชิงอรรถ :
1 ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบ ในที่นี้หมายถึงความเพียรที่บำเพ็ญเพื่อให้เกิดทรัพย์ (ขุ.ชา.อ. 2/76/173)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :386 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 7. โกสิยชาดก (470)
(ปัญจสิขเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[83] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
ผู้นั้นชื่อว่ากลืนเบ็ดพร้อมทั้งเครื่องผูกที่มีสายยาว
[84] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกท่านว่า
ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ
ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข
(โกสิยเศรษฐีเห็นฤทธิ์ของเทพบุตรเหล่านั้นแล้วจึงกล่าวว่า)
[85] พราหมณ์เหล่านี้มีผิวพรรณงามจริงหนอ
แต่สุนัขของพวกท่านตัวนี้ เพราะเหตุไร
จึงเปลี่ยนแปลงรัศมีสีสันได้ต่าง ๆ นานา
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย ขอท่านจงบอกข้าพเจ้าว่า
พวกท่านเป็นใครกันหนอ
(ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า)
[86] เทพทั้งหลายที่มา ณ ที่นี้ คือ
จันทเทพบุตรและสุริยเทพบุตรทั้ง 2 มาตลีเทพสารถี
เราคือท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพชั้นไตรทศ
ส่วนผู้นี้แลชื่อว่าปัญจสิขเทพบุตร
(ท้าวสักกะสรรเสริญยศของปัญจสิขเทพบุตรว่า)
[87] เสียงปรบมือ 1 ตะโพน 1 กลอง 1 เปิงมาง 1
ย่อมปลุกเทพบุตรผู้หลับแล้วให้ตื่นขึ้น
เทพบุตรผู้ตื่นขึ้นแล้วย่อมร่าเริงยินดี
(ท้าวสักกะตรัสอีกว่า)
[88] คนผู้ตระหนี่เห็นแก่ตัวเหล่านี้
บางพวกมักว่าสมณะและพราหมณ์
เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ตายไปก็ตกนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :387 }