เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 4. กามชาดก (467)
[35] ส่วนพวกคนพาลผู้ที่ติดอยู่ในรสเพราะโมหะ
ไม่รู้แจ้งชัดถึงประโยชน์ในอนาคต
หมกหมุ่นอยู่ในประโยชน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ย่อมถึงความพินาศ
เหมือนพวกมนุษย์ที่พินาศกลางทะเลเหล่านั้น
[36] คนผู้เป็นบัณฑิตพึงรีบทำกิจที่ควรทำในอนาคตด้วยหวังว่า
ในเวลาที่ทำกิจ ขอกิจที่ควรทำอย่าได้เบียดเบียนเรา
กิจนั้นย่อมไม่เบียดเบียนเขาผู้รีบทำกิจที่ควรทำเช่นนั้น
สมุททวาณิชชาดกที่ 3 จบ

4. กามชาดก (467)
ว่าด้วยกามและโทษของกาม
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[37] หากสิ่งที่สัตวโลกต้องการนั้นสำเร็จแก่เขาผู้ต้องการกาม
เขาได้แล้วย่อมจะอิ่มใจแน่นอน
[38] หากสิ่งที่ต้องการนั้นสำเร็จแก่เขาผู้ต้องการกาม
เมื่อความปรารถนาสำเร็จแล้ว เขายังปรารถนาต่อไปอีก
ย่อมประสบความอยากยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เหมือนคนตรากตรำลมและแดดในฤดูร้อน
ประสบความกระหายยิ่ง ๆ ขึ้นไป
[39] ความอยากและความกระหายย่อมพอกพูนโดยยิ่ง
แก่คนผู้โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้พระสัทธรรม
ผู้มีร่างกายกำลังเจริญเติบโต
เหมือนเขาเจริญแก่โคตัวที่กำลังมีเขาเจริญเติบโต
[40] แม้จะให้นาข้าวสาลี นาข้าวเหนียว โค ม้า
และทาสชายหญิงทั้งแผ่นดิน ก็ไม่เพียงพอสำหรับคนคนเดียว
บุคคลรู้อย่างนี้แล้วพึงประพฤติธรรมให้สม่ำเสมอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :380 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 4. กามชาดก (467)
[41] พระราชาทรงปราบปรามข้าศึก ชนะทั่วทั้งแผ่นดิน
ทรงปกครองแผ่นดินอันมีสมุทรสาครเป็นที่สุด
ยังมิทรงอิ่มพระทัยมหาสมุทรฝั่งนี้
ทรงปรารถนาแม้มหาสมุทรฝั่งโน้นอีก
[42] บุคคลไม่ประสบความอิ่มใจ
ตลอดเวลาที่ยังหวนระลึกถึงกามทั้งหลายอยู่
บุคคลเหล่าใดกลับใจ มีกายหลีกออกจากกามนั้น
เห็นโทษในกามทั้งหลาย เป็นผู้อิ่มแล้วด้วยปัญญา
บุคคลเหล่านั้นแลชื่อว่าเป็นผู้อิ่ม
[43] บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐที่สุด
เพราะบุคคลผู้อิ่มด้วยปัญญานั้นไม่เดือดร้อนเพราะกามทั้งหลาย
คนที่อิ่มด้วยปัญญา ตัณหาทำให้อยู่ในอำนาจไม่ได้
[44] บุคคลไม่พึงสั่งสมกาม
ควรเป็นคนปรารถนาน้อย ไม่โลเลเหลาะแหละ
คนผู้มีปัญญาเพียงดังมหาสมุทรไม่เร่าร้อนเพราะกามทั้งหลาย
[45] ส่วนใด ๆ ของกามทั้งหลายที่ละได้
ส่วนนั้น ๆ ก็บันดาลให้เป็นสุขได้
ถ้าปรารถนาสุขทุกส่วนก็ควรละกามให้หมด
เหมือนช่างหนังตัดเอาหนังมาทำรองเท้า
(พระราชาตรัสว่า)
[46] ท่านมหาพราหมณ์ คาถาทั้งหมดที่ท่านกล่าวแล้ว 8 คาถา
มีค่านับเป็นพัน ๆ กหาปณะ
ท่านจงรับทรัพย์ไปเถิด ภาษิตของท่านนี้ดีนักแล
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[47] ข้าพระองค์ไม่ต้องการทรัพย์เป็นร้อย เป็นพัน หรือเป็นหมื่น
เพราะเมื่อข้าพระองค์กล่าวคาถาสุดท้าย ใจไม่ยินดีในกามเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :381 }