เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 3. สมุททวาณิชชาดก (466)
(ฝ่ายนายช่างผู้เป็นบัณฑิตได้กล่าวว่า)
[30] เทพบุตรเหล่านี้กล่าวขัดแย้งกัน
ตนหนึ่งกล่าวว่าจะมีภัย ตนหนึ่งกล่าวว่าจะปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม เอาเถิดพวกท่านจงฟังคำของเรา
พวกเราทั้งหมดอย่าพากันพินาศเสียเร็วพลันเลย
[31] พวกเราทั้งหมดจงมาพร้อมกันสร้างเรือโกลน
ประกอบเครื่องยนต์ทุกอย่างให้มั่นคง
ถ้าเทพบุตรทิศทักษิณนี้กล่าวจริง
เทพบุตรองค์ทิศอุดรนี้ก็กล่าวคัดค้านเปล่า ๆ
อนึ่ง เมื่อเกิดอันตรายขึ้น เรือของพวกเรานั้นจักมีประโยชน์
และพวกเราจะไม่ละทิ้งเกาะนี้ไป
[32] แต่ถ้าเทพบุตรทิศอุดรกล่าวจริง
เทพบุตรทิศทักษิณนี้ก็กล่าวคัดค้านเปล่า ๆ
พวกเราทั้งหมดก็จะพากันขึ้นเรือลำนั้นแหละ
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราก็จะมีความสวัสดีข้ามไปจนถึงฝั่ง
[33] คำที่เทพองค์แรกกล่าวกับคำหลัง
อย่าไปเชื่อเอาง่าย ๆ ว่าถูกต้อง
ส่วนคำที่ผ่านหูมา นรชนใดในโลกนี้เก็บเอามาพิจารณา
เลือกเอาแต่คำที่ถูกต้อง
นรชนนั้นย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ
(พระศาสดาตรัส 3 พระคาถาว่า)
[34] กุลบุตรผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน
รู้แจ้งชัดถึงประโยชน์ในอนาคตแล้ว
ย่อมไม่ให้ประโยชน์แม้น้อยล่วงเลยไป
เหมือนพวกพ่อค้าเหล่านั้นได้ไปโดยความสวัสดีกลางน้ำทะเล
ตามการกระทำของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :379 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 4. กามชาดก (467)
[35] ส่วนพวกคนพาลผู้ที่ติดอยู่ในรสเพราะโมหะ
ไม่รู้แจ้งชัดถึงประโยชน์ในอนาคต
หมกหมุ่นอยู่ในประโยชน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ย่อมถึงความพินาศ
เหมือนพวกมนุษย์ที่พินาศกลางทะเลเหล่านั้น
[36] คนผู้เป็นบัณฑิตพึงรีบทำกิจที่ควรทำในอนาคตด้วยหวังว่า
ในเวลาที่ทำกิจ ขอกิจที่ควรทำอย่าได้เบียดเบียนเรา
กิจนั้นย่อมไม่เบียดเบียนเขาผู้รีบทำกิจที่ควรทำเช่นนั้น
สมุททวาณิชชาดกที่ 3 จบ

4. กามชาดก (467)
ว่าด้วยกามและโทษของกาม
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[37] หากสิ่งที่สัตวโลกต้องการนั้นสำเร็จแก่เขาผู้ต้องการกาม
เขาได้แล้วย่อมจะอิ่มใจแน่นอน
[38] หากสิ่งที่ต้องการนั้นสำเร็จแก่เขาผู้ต้องการกาม
เมื่อความปรารถนาสำเร็จแล้ว เขายังปรารถนาต่อไปอีก
ย่อมประสบความอยากยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เหมือนคนตรากตรำลมและแดดในฤดูร้อน
ประสบความกระหายยิ่ง ๆ ขึ้นไป
[39] ความอยากและความกระหายย่อมพอกพูนโดยยิ่ง
แก่คนผู้โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้พระสัทธรรม
ผู้มีร่างกายกำลังเจริญเติบโต
เหมือนเขาเจริญแก่โคตัวที่กำลังมีเขาเจริญเติบโต
[40] แม้จะให้นาข้าวสาลี นาข้าวเหนียว โค ม้า
และทาสชายหญิงทั้งแผ่นดิน ก็ไม่เพียงพอสำหรับคนคนเดียว
บุคคลรู้อย่างนี้แล้วพึงประพฤติธรรมให้สม่ำเสมอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :380 }