เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 3. สมุททวาณิชชาดก (466)
3. สมุททวาณิชชาดก (466)
ว่าด้วยพ่อค้าทางเรือเดินทะเล
(พระศาสดาตรัสว่า)
[25] มนุษย์เหล่านั้นพากันไถ พากันหว่าน
อาศัยผลแห่งการงานเลี้ยงชีพอยู่ ก็ยังไม่ถึงส่วนแห่งเกาะนี้
เกาะของเรานี้ประเสริฐกว่าชมพูทวีป
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[26] ในคืนพระจันทร์เพ็ญ 15 ค่ำ
ทะเลจักมีคลื่นแรงมาก จักท่วมเกาะใหญ่แห่งนี้
ขอกำลังคลื่นน้ำทะเลอย่าได้ฆ่าพวกท่านเลย
พวกท่านจงไปยังเกาะอื่นเถิด
(เทพบุตรผู้ร้ายกาจอีกตนหนึ่งได้กล่าวว่า)
[27] กำลังคลื่นน้ำทะเลจะไม่เกิด
จักไม่ท่วมเกาะใหญ่แห่งนี้
ข้าพเจ้าเห็นเหตุนั้นด้วยนิมิตมากมาย
พวกท่านอย่ากลัวไปเลย จะเศร้าโศกทำไม จงรื่นเริงกันเถิด
[28] เกาะใหญ่นี้มีอาหารเพียงพอ มีข้าวและน้ำมากมาย
พวกท่านจงยึดครองเป็นที่อยู่อาศัยเถิด
ข้าพเจ้ายังไม่เห็นภัยอะไรสำหรับพวกท่านเลย
ท่านทั้งหลายจงรื่นเริงบันเทิงใจไปตลอดชั่วลูกชั่วหลานเถิด
(นายช่างผู้โง่เขลากล่าวว่า)
[29] เทพบุตรองค์ใดในทิศทักษิณนี้ย่อมกล่าวคัดค้านว่า
ปลอดภัย คำของเทพบุตรองค์นั้นเป็นความจริง
ส่วนเทพบุตรทิศอุดรไม่รู้ถึงภัยหรือไม่มีภัย
พวกท่านอย่ากลัวไปเลย จะเศร้าโศกทำไม จงรื่นเริงกันเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :378 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 3. สมุททวาณิชชาดก (466)
(ฝ่ายนายช่างผู้เป็นบัณฑิตได้กล่าวว่า)
[30] เทพบุตรเหล่านี้กล่าวขัดแย้งกัน
ตนหนึ่งกล่าวว่าจะมีภัย ตนหนึ่งกล่าวว่าจะปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม เอาเถิดพวกท่านจงฟังคำของเรา
พวกเราทั้งหมดอย่าพากันพินาศเสียเร็วพลันเลย
[31] พวกเราทั้งหมดจงมาพร้อมกันสร้างเรือโกลน
ประกอบเครื่องยนต์ทุกอย่างให้มั่นคง
ถ้าเทพบุตรทิศทักษิณนี้กล่าวจริง
เทพบุตรองค์ทิศอุดรนี้ก็กล่าวคัดค้านเปล่า ๆ
อนึ่ง เมื่อเกิดอันตรายขึ้น เรือของพวกเรานั้นจักมีประโยชน์
และพวกเราจะไม่ละทิ้งเกาะนี้ไป
[32] แต่ถ้าเทพบุตรทิศอุดรกล่าวจริง
เทพบุตรทิศทักษิณนี้ก็กล่าวคัดค้านเปล่า ๆ
พวกเราทั้งหมดก็จะพากันขึ้นเรือลำนั้นแหละ
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราก็จะมีความสวัสดีข้ามไปจนถึงฝั่ง
[33] คำที่เทพองค์แรกกล่าวกับคำหลัง
อย่าไปเชื่อเอาง่าย ๆ ว่าถูกต้อง
ส่วนคำที่ผ่านหูมา นรชนใดในโลกนี้เก็บเอามาพิจารณา
เลือกเอาแต่คำที่ถูกต้อง
นรชนนั้นย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ
(พระศาสดาตรัส 3 พระคาถาว่า)
[34] กุลบุตรผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน
รู้แจ้งชัดถึงประโยชน์ในอนาคตแล้ว
ย่อมไม่ให้ประโยชน์แม้น้อยล่วงเลยไป
เหมือนพวกพ่อค้าเหล่านั้นได้ไปโดยความสวัสดีกลางน้ำทะเล
ตามการกระทำของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :379 }