เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 2. ภัททสาลชาดก (465)
(ภัททสาละจอมเทพตรัสว่า)
[18] หากพระองค์เกิดความดำริเช่นนี้
หากพระองค์ทรงปรารถนาจะแยกร่างกายของข้าพระองค์
ขอพระองค์จงรานกิ่งก้านข้าพระองค์ให้มากแล้วบั่นให้เป็นท่อน ๆ
[19] พระองค์จงตัดยอดก่อน ต่อมาจงตัดกลางลำต้น
และจงตัดโคนต้นในภายหลัง
เมื่อข้าพระองค์ถูกตัดอย่างนี้ จะพึงตายไม่เป็นทุกข์
(พระราชาตรัสว่า)
[20] เหมือนราชบุรุษตัดมือ ตัดเท้า ตัดหู และตัดจมูกก่อน
ต่อมาภายหลังจึงตัดศีรษะของโจรที่ยังเป็นอยู่
การตายนั้นพึงเป็นทุกข์
[21] ภัททสาละผู้เจ้าป่า การถูกตัดเป็นท่อน ๆ เป็นสุขหรือ
เพราะเหตุไร เพราะอาศัยอะไร
ท่านจึงปรารถนาการถูกตัดเป็นท่อน ๆ
(ภัททสาละจอมเทพตรัสว่า)
[22] ก็ข้าพระองค์อาศัยเหตุอันใดซึ่งเป็นเหตุอันประกอบด้วยธรรม
จึงปรารถนาการถูกตัดเป็นท่อน ๆ ขอเดชะพระมหาราช
ขอพระองค์ทรงสดับเหตุอันนั้นของข้าพระองค์
[23] พวกญาติของข้าพระองค์เจริญเติบโตอย่างมีความสุข
เกิดในที่อับลมข้าง ๆ ข้าพระองค์
ข้าพระองค์พึงเบียดเบียนพวกญาติแม้เหล่านั้น
ชื่อว่าได้ก่อความไม่สุขสบายให้แก่ผู้อื่น
(พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[24] ภัททสาละผู้เจ้าป่า ท่านได้คิดสิ่งที่ควรคิด
ปรารถนาประโยชน์เกื้อกูลแก่หมู่ญาติ
สหายเอ๋ย เราให้อภัยแก่ท่าน
ภัททสาลชาดกที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :377 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [12. ทวาทสกนิบาต] 3. สมุททวาณิชชาดก (466)
3. สมุททวาณิชชาดก (466)
ว่าด้วยพ่อค้าทางเรือเดินทะเล
(พระศาสดาตรัสว่า)
[25] มนุษย์เหล่านั้นพากันไถ พากันหว่าน
อาศัยผลแห่งการงานเลี้ยงชีพอยู่ ก็ยังไม่ถึงส่วนแห่งเกาะนี้
เกาะของเรานี้ประเสริฐกว่าชมพูทวีป
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[26] ในคืนพระจันทร์เพ็ญ 15 ค่ำ
ทะเลจักมีคลื่นแรงมาก จักท่วมเกาะใหญ่แห่งนี้
ขอกำลังคลื่นน้ำทะเลอย่าได้ฆ่าพวกท่านเลย
พวกท่านจงไปยังเกาะอื่นเถิด
(เทพบุตรผู้ร้ายกาจอีกตนหนึ่งได้กล่าวว่า)
[27] กำลังคลื่นน้ำทะเลจะไม่เกิด
จักไม่ท่วมเกาะใหญ่แห่งนี้
ข้าพเจ้าเห็นเหตุนั้นด้วยนิมิตมากมาย
พวกท่านอย่ากลัวไปเลย จะเศร้าโศกทำไม จงรื่นเริงกันเถิด
[28] เกาะใหญ่นี้มีอาหารเพียงพอ มีข้าวและน้ำมากมาย
พวกท่านจงยึดครองเป็นที่อยู่อาศัยเถิด
ข้าพเจ้ายังไม่เห็นภัยอะไรสำหรับพวกท่านเลย
ท่านทั้งหลายจงรื่นเริงบันเทิงใจไปตลอดชั่วลูกชั่วหลานเถิด
(นายช่างผู้โง่เขลากล่าวว่า)
[29] เทพบุตรองค์ใดในทิศทักษิณนี้ย่อมกล่าวคัดค้านว่า
ปลอดภัย คำของเทพบุตรองค์นั้นเป็นความจริง
ส่วนเทพบุตรทิศอุดรไม่รู้ถึงภัยหรือไม่มีภัย
พวกท่านอย่ากลัวไปเลย จะเศร้าโศกทำไม จงรื่นเริงกันเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :378 }