เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [11. เอกาทสกนิบาต] 7. ทสรถชาดก (461)
[88] สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมามีภัยต้องตายแน่นอน
เหมือนผลไม้สุกมีอันตรายต้องหล่นแน่นอน
[89] ชนเป็นจำนวนมาก บางพวกเห็นกันเมื่อตอนเช้า
ในตอนเย็นกลับไม่ปรากฏ
บางพวกเห็นกันในตอนเย็น พอรุ่งเช้ากลับไม่ปรากฏ
[90] หากผู้ที่หลงคร่ำครวญเบียดเบียนตนอยู่
จะพึงนำประโยชน์อะไรมาได้บ้าง
บัณฑิตผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ก็จะพึงกระทำเช่นนั้นบ้าง
[91] ผู้ที่เบียดเบียนตนเองย่อมจะซูบผอม
ไม่ผ่องใสเพราะการคร่ำครวญนั้น
สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปสู่ปรโลกก็คุ้มครองตนไม่ได้
การคร่ำครวญเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์
[92] ที่พำนักอาศัยที่ร้อน บุคคลพึงใช้น้ำดับได้ฉันใด
ข้ออุปไมยก็ฉันนั้น ความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นแล้ว
นรชนคนผู้เป็นปราชญ์มีการสดับฟัง มีปัญญา เป็นบัณฑิต
พึงกำจัดเสียโดยพลันเหมือนลมพัดนุ่น
[93] สัตว์ย่อมตายคนเดียว เกิดก็คนเดียวในสกุล
ส่วนการคบหากันของสรรพสัตว์มีความเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างยิ่ง
[94] เพราะเหตุนั้นแหละ นักปราชญ์ผู้เป็นพหูสูต
พิจารณาโลกนี้และโลกหน้า เพราะรู้ทั่วถึงธรรม
แม้ความเศร้าโศกใหญ่หลวงก็แผดเผาจิตใจไม่ได้
[95] เรานั้นจักให้ จักบริโภค จักเลี้ยงดูญาติทั้งหลาย
และจักคุ้มครองมหาชนที่เหลือ นั่นเป็นหน้าที่ของท่านผู้รู้
[96] พระรามบัณฑิตผู้มีพระศองามดุจทองคำ มีพระพาหาใหญ่
ทรงครอบครองราชสมบัติอยู่ 16,000 ปี
ทสรถชาดกที่ 7 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :369 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [11. เอกาทสกนิบาต] 9. สุปปารกชาดก (463)
8. สังวรชาดก (462)
ว่าด้วยพระเจ้าสังวร
(พระอุโบสถกุมารตรัสกับสังวรกุมารว่า)
[97] ขอเดชะพระมหาราช พระราชบิดาผู้เป็นพระมหากษัตริย์
ทรงทราบอยู่ถึงสีลวัตรของพระองค์ ทรงยกย่องพระกุมารเหล่านี้
แต่หายกย่องพระองค์ด้วยชนบทใดชนบทหนึ่งไม่
[98] เมื่อพระมหาราชผู้สมมติเทพทรงพระชนม์อยู่
หรือทิวงคตแล้วก็ตาม
พระญาติทั้งหลายเมื่อเห็นประโยชน์ของตน
จึงพากันยอมรับพระองค์
[99] ขอเดชะพระเจ้าสังวร ด้วยพระจริยาวัตรอะไร
พระองค์จึงทรงดำรงอยู่เหนือพระเจ้าพี่ผู้มีพระชาติเสมอกัน
เพราะเหตุไร บรรดาพระญาติที่มาประชุมกันแล้ว
จึงไม่ล่วงเกินพระองค์
(พระเจ้าสังวรมหาราชตรัสคุณของพระองค์ว่า)
[100] พระราชบุตร หม่อนฉันไม่ริษยาสมณะทั้งหลาย
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ย่อมนอบน้อมสมณะเหล่านั้นโดยเคารพ
ย่อมกราบเท้าสมณะผู้คงที่ทั้งหลาย
[101] สมณะเหล่านั้นย่อมพร่ำสอนหม่อมฉัน
ผู้ประกอบแล้วในพระธรรมคุณ เชื่อฟัง
ไม่ริษยาสมณะผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย
ยินดีแล้วในพระธรรมคุณ
[102] หม่อมฉันได้สดับคำของสมณะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เหล่านั้นแล้ว ไม่ดูหมิ่นอะไร ๆ
ใจของหม่อมฉันยินดีในธรรมเป็นนิตย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :370 }