เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [11. เอกาทสกนิบาต] 7. ทสรถชาดก (461)
[82] พระราชกุมารพระองค์ใดประเสริฐกว่าพระราชบุตรพันพระองค์
ยังทรงพระเยาว์ มีพระฉวีวรรณประดุจทองคำ
พระราชกุมารพระองค์นี้นั้นยังทรงมีพระกำลังแข็งแรง
ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ผนวชแล้ว
(พระโพธิสัตว์กุมารกราบทูลว่า)
[83] พระราชกุมารทั้ง 2 พระองค์ คือ ยุธัญชัยกุมาร
และยุธิฏฐิลกุมารทรงละพระราชมารดาและพระราชบิดา
ตัดเครื่องข้องของมฤตยูผนวชแล้ว
ยุธัญชัยชาดกที่ 6 จบ

7. ทสรถชาดก (461)
ว่าด้วยพระเจ้าทศรถ
(พระรามบัณฑิตกล่าวว่า)
[84] มานี่ พ่อลักษณ์และแม่สีดา เจ้าทั้ง 2 จงลงน้ำ
น้องภรตนี้กล่าวอย่างนี้ว่า พระเจ้าทศรถสวรรคตแล้ว
(ภรตกุมารถามรามบัณฑิตว่า)
[85] เจ้าพี่ราม เพราะอานุภาพอะไร
เจ้าพี่จึงไม่ทรงเศร้าโศกถึงเหตุที่ควรเศร้าโศก
ความทุกข์จึงไม่ครอบงำเจ้าพี่
เพราะทรงสดับว่า ทูลกระหม่อมพ่อสวรรคตแล้ว
(พระรามบัณฑิตประกาศความไม่เที่ยงว่า)
[86] บรรดาคนทั้งหลายผู้พร่ำเพ้อถึงอยู่เป็นอันมาก
ไม่มีสักคนหนึ่งที่สามารถจะรักษาชีวิตไว้ได้
วิญญูชนคนมีปัญญาจะพึงยังตนให้เดือดร้อนเพื่ออะไรเล่า
[87] เพราะว่าคนหนุ่ม คนแก่ คนโง่ คนฉลาด
คนมั่งคั่งร่ำรวย คนจนก็ตาม ล้วนจะต้องตายทั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :368 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [11. เอกาทสกนิบาต] 7. ทสรถชาดก (461)
[88] สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมามีภัยต้องตายแน่นอน
เหมือนผลไม้สุกมีอันตรายต้องหล่นแน่นอน
[89] ชนเป็นจำนวนมาก บางพวกเห็นกันเมื่อตอนเช้า
ในตอนเย็นกลับไม่ปรากฏ
บางพวกเห็นกันในตอนเย็น พอรุ่งเช้ากลับไม่ปรากฏ
[90] หากผู้ที่หลงคร่ำครวญเบียดเบียนตนอยู่
จะพึงนำประโยชน์อะไรมาได้บ้าง
บัณฑิตผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ก็จะพึงกระทำเช่นนั้นบ้าง
[91] ผู้ที่เบียดเบียนตนเองย่อมจะซูบผอม
ไม่ผ่องใสเพราะการคร่ำครวญนั้น
สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปสู่ปรโลกก็คุ้มครองตนไม่ได้
การคร่ำครวญเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์
[92] ที่พำนักอาศัยที่ร้อน บุคคลพึงใช้น้ำดับได้ฉันใด
ข้ออุปไมยก็ฉันนั้น ความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นแล้ว
นรชนคนผู้เป็นปราชญ์มีการสดับฟัง มีปัญญา เป็นบัณฑิต
พึงกำจัดเสียโดยพลันเหมือนลมพัดนุ่น
[93] สัตว์ย่อมตายคนเดียว เกิดก็คนเดียวในสกุล
ส่วนการคบหากันของสรรพสัตว์มีความเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างยิ่ง
[94] เพราะเหตุนั้นแหละ นักปราชญ์ผู้เป็นพหูสูต
พิจารณาโลกนี้และโลกหน้า เพราะรู้ทั่วถึงธรรม
แม้ความเศร้าโศกใหญ่หลวงก็แผดเผาจิตใจไม่ได้
[95] เรานั้นจักให้ จักบริโภค จักเลี้ยงดูญาติทั้งหลาย
และจักคุ้มครองมหาชนที่เหลือ นั่นเป็นหน้าที่ของท่านผู้รู้
[96] พระรามบัณฑิตผู้มีพระศองามดุจทองคำ มีพระพาหาใหญ่
ทรงครอบครองราชสมบัติอยู่ 16,000 ปี
ทสรถชาดกที่ 7 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :369 }