เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [11. เอกาทสกนิบาต] 4. อุทยชาดก (458)
(ท้าวสักกะจึงตรัสว่า)
[40] พระนางผู้เลอโฉม หม่อมฉันเป็นเทพบุตรได้มา
ณ ตำหนักของพระนาง ขอพระนางพึงพอพระทัยหม่อมฉันเถิด
หม่อมฉันขอถวายถาดทองคำซึ่งมีเหรียญทองคำเต็มถาดแด่พระนาง
(พระราชธิดาสดับพระดำรัสนั้นแล้วจึงตรัสว่า)
[41] จะเป็นเทวดา ยักษ์ หรือมนุษย์ก็ตาม
คนอื่นหม่อมฉันไม่ปรารถนา นอกจากพระเจ้าอุทัย
เทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก ขอพระองค์เสด็จไปเสียเถิด
และเสด็จไปแล้ว อย่าได้เสด็จกลับมาอีกเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[42] พระนางผู้ประกอบด้วยความหมดจด
พระนางอย่าให้ความยินดีในเมถุน
ที่บรรดาสัตว์ผู้บริโภคกามถือว่าเป็นความยินดีชั้นเยี่ยม
ซึ่งเป็นเหตุให้เหล่าสัตว์ประพฤติลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไปเลย
หม่อมฉันขอถวายถาดเงินซึ่งเต็มไปด้วยทองคำแด่พระนาง
(พระราชธิดาตรัสว่า)
[43] ธรรมดาชาย เมื่อจะให้หญิงยินยอม
ย่อมเอาทรัพย์มาประมูลหญิงที่ตนพอใจ
แต่สำหรับพระองค์ตรงกันข้าม
มีสภาพเหนือกว่าเห็นได้ชัด มีทรัพย์น้อยกว่ามาหา
(ท้าวสักกะได้ตรัสว่า)
[44] พระนางผู้มีพระวรกายงดงาม
ธรรมดาอายุและผิวพรรณของหมู่มนุษย์
ในมนุษยโลกย่อมทรุดโทรมไป
เพราะเหตุนั้น แม้ทรัพย์ก็ลดลงตามฉวีวรรณของพระนาง
เพราะวันนี้พระนางทรงชรากว่าเมื่อวาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :361 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [11. เอกาทสกนิบาต] 4. อุทยชาดก (458)
[45] พระราชบุตรีผู้ทรงยศ หม่อมฉันพิเคราะห์เห็นอย่างนี้ว่า
เมื่อวันคืนล่วงไป ฉวีวรรณของพระนางก็ทรุดโทรมไป
[46] พระราชบุตรีผู้มีปรีชา ด้วยวัยนี้แหละ
พระองค์ควรประพฤติพรหมจรรย์
พระองค์จะมีพระฉวีวรรณงดงามยิ่งขึ้น
(พระราชธิดาตรัสว่า)
[47] พวกเทพไม่แก่ชราเหมือนมนุษย์หรือ
ในร่างกายของพวกเทพไม่มีรอยเหี่ยวย่นหรือ
เทพบุตรผู้ทรงอานุภาพมาก หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์
ร่างกายของหมู่เทพเป็นอย่างไรหนอ
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[48] พวกเทพไม่แก่ชราเหมือนมนุษย์
ในร่างกายของพวกเทพก็ไม่มีรอยเหี่ยวย่น
พวกเทพเหล่านั้นมีวรรณะอันเป็นทิพย์
และโภคะอันไพบูลย์ยิ่งขึ้นไปทุกวัน
(พระราชธิดาตรัสว่า)
[49] หมู่ชนมิใช่น้อยในโลกนี้กลัวอะไรหนอ
ทางอะไรที่ท่านกล่าวไว้โดยลัทธิมิใช่น้อย
เทพบุตรผู้ทรงอานุภาพมาก หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์
บุคคลดำรงอยู่ในทางไหนจึงไม่ต้องกลัวปรโลก
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[50] บุคคลตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ ไม่กระทำบาปด้วยกาย
เมื่อครอบครองเรือนก็มีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา
อ่อนโยน รู้จักแบ่งปันกันกิน รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
เป็นผู้สงเคราะห์ พูดผูกใจเพื่อน มีวาจาอ่อนหวาน
ดำรงอยู่ในทางนี้ ย่อมไม่กลัวปรโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :362 }