เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [1. เอกกนิบาต] 9. อปายิมหวรรค 5. กิมปักกชาดก (85)
[83] บุคคลชื่อว่าเป็นมิตรเพราะเดินร่วมกัน 7 ก้าวเท่านั้น
ชื่อว่าเป็นสหายเพราะเดินร่วมกัน 12 ก้าว
ชื่อว่าเป็นญาติเพราะอยู่ร่วมกัน 1 เดือนหรือครึ่งเดือน
ชื่อว่าเสมอกับตนก็เพราะอยู่ร่วมกันยิ่งกว่านั้น
ข้าพเจ้านั้นจะพึงละทิ้งมิตรที่ชื่อกาฬกัณณีซึ่งสนิทสนมกันมานาน
เพราะเหตุแห่งความสุขส่วนตัวได้อย่างไร
กาฬกัณณิชาดกที่ 3 จบ

4. อัตถัสสทวารชาดก (84)
ว่าด้วยช่องทางแห่งประโยชน์
(เศรษฐีโพธิสัตว์แก้ปัญหาของบุตรชายถามถึงช่องทางแห่งประโยชน์ว่า)
[84] บุคคลควรปรารถนาลาภอย่างยิ่ง คือ
(1) ความไม่มีโรค (2) ศีล
(3) การคล้อยตามความรู้ของท่านผู้ฉลาด (4) การสดับตรับฟัง
(5) การประพฤติสมควรแก่ธรรม (6) ความที่จิตไม่หดหู่
คุณธรรม 6 ประการนี้เป็นช่องทางหลักแห่งประโยชน์
อัตถัสสทวารชาดกที่ 4 จบ

5. กิมปักกชาดก (85)
ว่าด้วยกามเปรียบเหมือนผลไม้มีพิษชื่อกิมปักกะ
(พระศาสดาตรัสเปรียบการบริโภคกามคุณเหมือนการบริโภคผลไม้มีพิษแก่
กุลบุตรผู้บวชถวายชีวิตว่า)
[85] บุคคลใดไม่รู้จักโทษในอนาคตแล้วมัวแต่เสพกามอยู่
ในที่สุด กามทั้งหลายในคราวให้ผลย่อมขจัดบุคคลนั้น
เช่นเดียวกับผลไม้มีพิษชื่อกิมปักกะ1ขจัดผู้บริโภค
กิมปักกชาดกที่ 5 จบ

เชิงอรรถ :
1 กิมปักกะ คือ ผลไม้มีพิษชนิดหนึ่งมีสีกลิ่นและรสน่ารับประทาน (ขุ.ชา.อ. 2/85/174)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :35 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [1. เอกกนิบาต] 9. อปายิมหวรรค 7. มังคลชาดก (87)
6. สีลวีมังสกชาดก (86)
ว่าด้วยการพิจารณาอานิสงส์ของศีล
(พระโพธิสัตว์ครั้งเสวยพระชาติเป็นปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัต สรรเสริญศีล
ว่า)
[86] ได้ยินว่า ศีลเป็นสิ่งที่ดีงาม
ศีลเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมในโลก
ดูเถิด นาคที่มีพิษร้ายแรงยังไม่เบียดเบียนใคร ๆ
เพราะสำนึกอยู่ว่า ตนมีศีล
สีลวีมังสกชาดกที่ 6 จบ

7. มังคลชาดก (87)
ว่าด้วยการถอนมงคล
(พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พราหมณ์ว่า)
[87] ผู้ใดถอนทิฏฐิเรื่องมงคล
อุบาต1 ความฝันและลักษณะได้แล้ว
ผู้นั้นล่วงพ้น
สิ่งอันเป็นมงคลและโทษทั้งปวง
ครอบงำกิเลสเป็นคู่ ๆ2 และโยคะทั้ง 2 ประการได้แล้ว
ไม่กลับมาเกิดอีก
มังคลชาดกที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 อุบาต ในที่นี้ หมายถึงมหาอุบาต 5 ประการ คือ (1) จันทคราส (ราหูอมพระจันทร์) (2) สุริยคราส
(ราหูอมพระอาทิตย์) (3) นักษัตรคราส (ราหูอมกลุ่มดาวหรือดวงชะตา) (4) อุกกาบาต (5) ราหู
จับลำขาว(ทางช้างเผือก)ในท้องฟ้า (ขุ.ชา.อ. 2/87/181)
2 กิเลสเป็นคู่ ๆ เช่น ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอเป็นต้น (ขุ.ชา.อ. 2/87/182)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :36 }