เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 15. มหามังคลชาดก (453)
(พระโพธิสัตว์กล่าวมงคลต่อไปอีกว่า)
[157] ผู้ใดมีความประพฤติถ่อมตนต่อชาวโลกทั้งปวง
คือ ต่อหญิงชายทั้งหลาย พร้อมทั้งพวกเด็ก
เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำที่หยาบคาย
ไม่กล่าววาจาที่ขัดแย้ง
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความอดกลั้นนั้นว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้น
[158] ผู้ใดมีปัญญา มีความรู้ ในเมื่อเหตุเกิดขึ้น
ไม่ดูหมิ่นมิตรสหายโดยศิลปะ สกุล ทรัพย์ และโดยชาติ
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความไม่ดูหมิ่นนั้นในสหายทั้งหลายว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้น
[159] ผู้ใดพูดจาไม่โกหก คบเพื่อนดี
และไม่ประทุษร้ายมิตร แบ่งปันทรัพย์ของตนให้
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการกระทำนั้นในมิตรทั้งหลายว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้น
[160] ผู้ใดมีภรรยาซึ่งมีวัยเท่า ๆ กัน สามัคคีกัน
คล้อยตามกัน เป็นผู้ใคร่ธรรม ให้กำเนิดลูกได้
เป็นหญิงมีสกุล มีศีล มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อสามี
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการประพฤตินั้นในภรรยาทั้งหลายว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้น
[161] ผู้ใดมีพระราชาผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่ชน ทรงมีพระเกียรติยศ
หยั่งรู้ความเป็นผู้บริสุทธิ์ และความพากเพียร
โดยปราศจากความคลางแคลงพระทัยว่า
ผู้นี้เป็นเพื่อนร่วมใจของเรา
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความไม่คลางแคลงพระทัยนั้นว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้นในพระราชาทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :349 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 16. ฆตปัณฑิตชาดก (454)
[162] ผู้ใดมีศรัทธา มีจิตเลื่อมใส พลอยอนุโมทนา ให้ข้าวน้ำ
ดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้เป็นทาน
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการให้ทานนั้นว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้นในสวรรค์
[163] ผู้ใดเป็นผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย
ผู้สำเร็จด้วยการประพฤติชอบ เป็นสัตบุรุษ
ได้ยินได้ฟังมามาก เป็นผู้แสวงหาคุณความดี
มีศีล ชำระล้างด้วยธรรมของพระอริยะ
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการชำระล้างด้วยธรรมของพระอริยะนั้นว่า
เป็นความสวัสดีในท่ามกลางพระอรหันต์ของผู้นั้น
(พระโพธิสัตว์รวมยอดเทศนาด้วยพระอรหันต์ ตรัสมหามงคล 8 ประการว่า)
[164] มงคลทั้ง 8 ประการเหล่านี้เป็นความสวัสดีในโลก
ที่ท่านผู้รู้สรรเสริญ มีความสุขเป็นกำไร
ขอเชิญนรชนคนมีปัญญาในโลกประพฤติปฏิบัติมงคลเหล่านั้นเถิด
เพราะในมงคลทางโลก ไม่มีอะไรจริงสักอย่างเดียว
มหามังคลชาดกที่ 15 จบ

16. ฆตปัณฑิตชาดก (454)
ว่าด้วยฆตบัณฑิต
(โรหิเณยยอำมาตย์สนทนากับพระเจ้าวาสุเทพว่า)
[165] ขอเดชะพระเจ้ากัณหะ โปรดเสด็จลุกขึ้นเถิด
ทรงบรรทมอยู่ทำไม
พระองค์มัวทรงพระสุบินจะมีประโยชน์อะไร
พระเจ้าน้องยาเธอผู้เป็นดังดวงพระหฤทัย
และนัยน์เนตรเบื้องขวาของพระองค์มีลมกำเริบ
ข้าแต่พระเจ้าเกสวะ พระเจ้าฆตบัณฑิตพร่ำเพ้ออยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :350 }