เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 13. จักกวากชาดก (451)
(มาตลีเทพบุตรเสด็จมาแสดงธรรมว่า)
[131] แม้มีไทยธรรมเพียงเล็กน้อย คนพวกหนึ่งก็ให้
คนพวกหนึ่งมีไทยธรรมมาก แต่ไม่ให้
ทักษิณาจากไทยธรรมส่วนน้อยที่บุคคลให้แล้ว
นับได้เสมอกับการให้ตั้งพัน
(ปัญจสิขเทพบุตรเสด็จมาแสดงธรรมว่า)
[132] แม้ผู้ใดเที่ยวแสวงหาอาหารเลี้ยงลูกเมีย
เมื่อมีรายได้น้อยก็ยังให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าผู้ประพฤติธรรม
การบูชาของคนที่บูชายัญด้วยทรัพย์จำนวนพันนับแสนคนเหล่านั้น
ยังไม่ถึงแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของคนจนผู้ประพฤติธรรมเช่นนั้นเลย
(เศรษฐีได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้กล่าวว่า)
[133] ยัญอันไพบูลย์เพราะมีค่ามากนี้
เหตุใดจึงไม่มีค่าเท่าเทียมทานที่บุคคลให้แล้วโดยสม่ำเสมอเล่า
อนึ่ง การบูชาของคนที่บูชายัญด้วยทรัพย์ จำนวนพันนับแสนคน
เหล่านั้นย่อมไม่ถึงแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของคนจน
ผู้ประพฤติธรรมเช่นนั้นเป็นอย่างไร
(ปัญจสิขเทพบุตรกล่าวว่า)
[134] เพราะว่าคนพวกหนึ่งตั้งอยู่ในกายกรรมเป็นต้นอันไม่สม่ำเสมอ
ทรมานสัตว์บ้าง ฆ่าสัตว์บ้าง ทำให้สัตว์เศร้าโศกบ้าง แล้วจึงให้ทาน
ทักษิณานั้นมีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา ประกอบไปด้วยอาชญา
จึงไม่เท่าราคาของทานที่เขาให้อย่างสม่ำเสมอ
การบูชาของคนที่บูชายัญด้วยทรัพย์จำนวนพันนับแสนคนเหล่านั้น
ยังไม่ถึงแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของคนจน
ที่ประพฤติธรรมเช่นนั้นด้วยอาการอย่างนี้
พิลารโกสิยชาดกที่ 12 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :344 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 13. จักกวากชาดก (451)
13. จักกวากชาดก (451)
ว่าด้วยนกจักรพาก
(กาถามนกจักรพากว่า)
[135] นกจักรพากท่านมีสีสวยรูปงามล่ำสัน
เลือดฝาดดี ทรวดทรงงาม ใบหน้าผ่องใส
[136] ท่านจับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา คงกินอาหารอย่างนี้
คือ ปลากา ปลากระบอก ปลาหมอ
ปลาค้าว และปลาตะเพียน นะซิ
(นกจักรพากปฏิเสธคำพูดของกานั้นว่า)
[137] ข้าพเจ้ามิได้กินอาหารชนิดนี้ หรือสัตว์บกสัตว์น้ำเลย
นอกเสียจากสาหร่ายและจอกแหน
เพื่อน สาหร่ายและจอกแหนนี้เป็นอาหารของข้าพเจ้า
(กาได้กล่าวว่า)
[138] ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า สาหร่ายและจอกแหนนี้
เป็นอาหารของนกจักรพาก
เพื่อน แม้ตัวข้าพเจ้าก็ยังกินอาหารที่มีรสเค็ม
และคลุกเคล้าด้วยน้ำมันในบ้าน
[139] ซึ่งเป็นอาหารที่เขาปรุงกันในหมู่มนุษย์
เป็นของสะอาดเจือด้วยเนื้อ
นกจักรพาก แต่สีสันของข้าพเจ้าไม่เหมือนท่าน
(นกจักรพรากได้กล่าวว่า)
[140] ท่านเบียดเบียนหมู่มนุษย์
ต้องคอยมองดูผู้ที่ผูกเวรในตน
กินอย่างหวาดสดุ้ง ตกใจกลัว
เพราะเหตุนั้น สีสันของท่านจึงเป็นเช่นนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :345 }