เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 12. พิลารโกสิยชาดก (450)
12. พิลารโกสิยชาดก (450)
ว่าด้วยท้าวสักกะทรมานเศรษฐีตีนแมว
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[125] สัตบุรุษทั้งหลายถึงจะไม่หุงต้มกินเอง
ได้โภชนะมาก็ปรารถนาที่จะให้
ส่วนท่านหุงต้มกินเอง ไฉนเล่าจึงไม่ให้
การไม่ให้นั้นไม่สมควรเลย
[126] คนไม่ให้ทานเพราะเหตุ 2 อย่างนี้
คือ เพราะตระหนี่ 1 เพราะประมาท 1
ผู้รู้เมื่อหวังบุญ ควรให้ทาน
[127] คนตระหนี่กลัวต่อความหิวความกระหายอันใดจึงไม่ให้ทาน
ภัยคือความหิวและความกระหายนั่นแหละย่อมมีแก่เขาผู้ไม่ให้
คนตระหนี่กลัวต่อความหิวและความกระหายอันใด
ความหิวและความกระหายนั่นแหละย่อมเบียดเบียนเขาผู้เป็นคนพาล
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[128] เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน
กำจัดความตระหนี่แล้วพึงให้ทาน
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า
(สุริยเทพบุตรเสด็จลงมาแล้ว ขออาหารว่า)
[129] อสัตบุรุษทั้งหลายเมื่อจะให้ทานชื่อว่าให้ได้ยาก
เมื่อจะกระทำกรรมก็ชื่อว่าทำได้ยาก
ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายพวกอสัตบุรุษรู้ได้ยาก
และพวกอสัตบุรุษก็ทำตามได้ยาก
[130] เพราะฉะนั้น สัตบุรุษและอสัตบุรุษ
จึงมีคติที่ไปจากโลกนี้ต่างกัน คือ
พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมไปสู่สวรรค์1

เชิงอรรถ :
1 ดูเล่มนี้ หน้า 79, ดู ขุ.ชา. (แปล) 28/2286-2287/537

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :343 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 13. จักกวากชาดก (451)
(มาตลีเทพบุตรเสด็จมาแสดงธรรมว่า)
[131] แม้มีไทยธรรมเพียงเล็กน้อย คนพวกหนึ่งก็ให้
คนพวกหนึ่งมีไทยธรรมมาก แต่ไม่ให้
ทักษิณาจากไทยธรรมส่วนน้อยที่บุคคลให้แล้ว
นับได้เสมอกับการให้ตั้งพัน
(ปัญจสิขเทพบุตรเสด็จมาแสดงธรรมว่า)
[132] แม้ผู้ใดเที่ยวแสวงหาอาหารเลี้ยงลูกเมีย
เมื่อมีรายได้น้อยก็ยังให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าผู้ประพฤติธรรม
การบูชาของคนที่บูชายัญด้วยทรัพย์จำนวนพันนับแสนคนเหล่านั้น
ยังไม่ถึงแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของคนจนผู้ประพฤติธรรมเช่นนั้นเลย
(เศรษฐีได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้กล่าวว่า)
[133] ยัญอันไพบูลย์เพราะมีค่ามากนี้
เหตุใดจึงไม่มีค่าเท่าเทียมทานที่บุคคลให้แล้วโดยสม่ำเสมอเล่า
อนึ่ง การบูชาของคนที่บูชายัญด้วยทรัพย์ จำนวนพันนับแสนคน
เหล่านั้นย่อมไม่ถึงแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของคนจน
ผู้ประพฤติธรรมเช่นนั้นเป็นอย่างไร
(ปัญจสิขเทพบุตรกล่าวว่า)
[134] เพราะว่าคนพวกหนึ่งตั้งอยู่ในกายกรรมเป็นต้นอันไม่สม่ำเสมอ
ทรมานสัตว์บ้าง ฆ่าสัตว์บ้าง ทำให้สัตว์เศร้าโศกบ้าง แล้วจึงให้ทาน
ทักษิณานั้นมีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา ประกอบไปด้วยอาชญา
จึงไม่เท่าราคาของทานที่เขาให้อย่างสม่ำเสมอ
การบูชาของคนที่บูชายัญด้วยทรัพย์จำนวนพันนับแสนคนเหล่านั้น
ยังไม่ถึงแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของคนจน
ที่ประพฤติธรรมเช่นนั้นด้วยอาการอย่างนี้
พิลารโกสิยชาดกที่ 12 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :344 }