เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 12. พิลารโกสิยชาดก (450)
[118] มาณพได้กล่าวแก่พราหมณ์นั้นว่า
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง 2 ย่อมปรากฏในท้องฟ้านั้น
รถทองของข้าพเจ้าย่อมงามด้วยล้อทั้งคู่นั้น
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[119] พ่อมาณพ เจ้าโง่นัก ที่มาปรารถนาสิ่งที่ไม่ควรปรารถนา
ข้าเข้าใจว่า เจ้าจักตายเสียเปล่า
เพราะเจ้าไม่มีทางจะได้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เลย
(มาณพกล่าวว่า)
[120] แม้การโคจรไปมาของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ยังปรากฏ
รัศมียังปรากฏในวิถีทั้ง 2
ส่วนคนที่ตายไปแล้วย่อมไม่ปรากฏ
เราทั้ง 2 ผู้ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในที่นี้ ใครหนอโง่กว่ากัน
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[121] พ่อมาณพ เจ้าพูดจริงแท้ เราทั้ง 2 ผู้ร้องไห้คร่ำครวญอยู่
ข้านี่แหละโง่กว่า ที่มาปรารถนาคนที่ตายไปแล้ว
เหมือนทารกร้องไห้อยากได้ดวงจันทร์
[122] เจ้าช่วยระงับข้าผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง
[123] เจ้าได้บรรเทาความเศร้าโศกของข้าผู้กำลังเศร้าโศกถึงบุตร
ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศก
ซึ่งเสียบที่หัวใจของข้าขึ้นได้แล้วหนอ
[124] พ่อมาณพ ข้าซึ่งเจ้าช่วยถอนลูกศรคือความโศกขึ้นให้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก ไม่ขุ่นมัว ไม่ร้องไห้
เพราะได้ฟังคำของเจ้า
มัฏฐกุณฑลีชาดกที่ 11 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :342 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 12. พิลารโกสิยชาดก (450)
12. พิลารโกสิยชาดก (450)
ว่าด้วยท้าวสักกะทรมานเศรษฐีตีนแมว
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[125] สัตบุรุษทั้งหลายถึงจะไม่หุงต้มกินเอง
ได้โภชนะมาก็ปรารถนาที่จะให้
ส่วนท่านหุงต้มกินเอง ไฉนเล่าจึงไม่ให้
การไม่ให้นั้นไม่สมควรเลย
[126] คนไม่ให้ทานเพราะเหตุ 2 อย่างนี้
คือ เพราะตระหนี่ 1 เพราะประมาท 1
ผู้รู้เมื่อหวังบุญ ควรให้ทาน
[127] คนตระหนี่กลัวต่อความหิวความกระหายอันใดจึงไม่ให้ทาน
ภัยคือความหิวและความกระหายนั่นแหละย่อมมีแก่เขาผู้ไม่ให้
คนตระหนี่กลัวต่อความหิวและความกระหายอันใด
ความหิวและความกระหายนั่นแหละย่อมเบียดเบียนเขาผู้เป็นคนพาล
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[128] เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน
กำจัดความตระหนี่แล้วพึงให้ทาน
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า
(สุริยเทพบุตรเสด็จลงมาแล้ว ขออาหารว่า)
[129] อสัตบุรุษทั้งหลายเมื่อจะให้ทานชื่อว่าให้ได้ยาก
เมื่อจะกระทำกรรมก็ชื่อว่าทำได้ยาก
ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายพวกอสัตบุรุษรู้ได้ยาก
และพวกอสัตบุรุษก็ทำตามได้ยาก
[130] เพราะฉะนั้น สัตบุรุษและอสัตบุรุษ
จึงมีคติที่ไปจากโลกนี้ต่างกัน คือ
พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมไปสู่สวรรค์1

เชิงอรรถ :
1 ดูเล่มนี้ หน้า 79, ดู ขุ.ชา. (แปล) 28/2286-2287/537

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :343 }