เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [1. เอกกนิบาต] 9. อปายิมหวรรค 3. กาฬกัณณิชาดก (83)
9. อปายิมหวรรค
หมวดว่าด้วยการดื่มสุรา
1. สุราปานชาดก (81)
ว่าด้วยโทษของการดื่มสุรา
(เหล่าดาบสถูกพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นอาจารย์ถาม จึงบอกเรื่องที่พวกตนดื่มสุรา
เมาแล้วพากันฟ้อนรำขับร้องว่า)
[81] พวกกระผมได้พากันดื่ม พากันฟ้อนรำ พากันขับร้องแล้ว
ก็พากันร้องไห้ เพราะดื่มสุราที่ทำให้สัญญาวิปริต1
แต่ยังดีที่ไม่ได้กลายเป็นลิงให้เห็น
สุราปานชาดกที่ 1 จบ

2. มิตตวินทชาดก (82)
ว่าด้วยนายมิตตวินทะถูกจักรหินบดขยี้
(เทพบุตรโพธิสัตว์เห็นนายมิตตวินทะตกนรกจึงกล่าวว่า)
[82] ท่านล่วงเลยปราสาทแก้วผลึก
ปราสาทเงิน และปราสาทแก้วมณีไปแล้ว
มาถูกจักรหินบดขยี้อยู่
ท่านจักไม่พ้นจากจักรหินตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่
มิตตวินทชาดกที่ 2 จบ

3. กาฬกัณณิชาดก (83)
ว่าด้วยมิตรชื่อกาฬกัณณี
(เศรษฐีโพธิสัตว์พูดทัดทานพวกคนที่ให้ไล่มิตรออกจากเรือนว่า)

เชิงอรรถ :
1 สัญญาวิปริต หมายถึงความจำแปรปรวนจนลืมนึกถึงกิริยาอาการของตน (ขุ.ชา.อ. 2/81/165-166)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :34 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [1. เอกกนิบาต] 9. อปายิมหวรรค 5. กิมปักกชาดก (85)
[83] บุคคลชื่อว่าเป็นมิตรเพราะเดินร่วมกัน 7 ก้าวเท่านั้น
ชื่อว่าเป็นสหายเพราะเดินร่วมกัน 12 ก้าว
ชื่อว่าเป็นญาติเพราะอยู่ร่วมกัน 1 เดือนหรือครึ่งเดือน
ชื่อว่าเสมอกับตนก็เพราะอยู่ร่วมกันยิ่งกว่านั้น
ข้าพเจ้านั้นจะพึงละทิ้งมิตรที่ชื่อกาฬกัณณีซึ่งสนิทสนมกันมานาน
เพราะเหตุแห่งความสุขส่วนตัวได้อย่างไร
กาฬกัณณิชาดกที่ 3 จบ

4. อัตถัสสทวารชาดก (84)
ว่าด้วยช่องทางแห่งประโยชน์
(เศรษฐีโพธิสัตว์แก้ปัญหาของบุตรชายถามถึงช่องทางแห่งประโยชน์ว่า)
[84] บุคคลควรปรารถนาลาภอย่างยิ่ง คือ
(1) ความไม่มีโรค (2) ศีล
(3) การคล้อยตามความรู้ของท่านผู้ฉลาด (4) การสดับตรับฟัง
(5) การประพฤติสมควรแก่ธรรม (6) ความที่จิตไม่หดหู่
คุณธรรม 6 ประการนี้เป็นช่องทางหลักแห่งประโยชน์
อัตถัสสทวารชาดกที่ 4 จบ

5. กิมปักกชาดก (85)
ว่าด้วยกามเปรียบเหมือนผลไม้มีพิษชื่อกิมปักกะ
(พระศาสดาตรัสเปรียบการบริโภคกามคุณเหมือนการบริโภคผลไม้มีพิษแก่
กุลบุตรผู้บวชถวายชีวิตว่า)
[85] บุคคลใดไม่รู้จักโทษในอนาคตแล้วมัวแต่เสพกามอยู่
ในที่สุด กามทั้งหลายในคราวให้ผลย่อมขจัดบุคคลนั้น
เช่นเดียวกับผลไม้มีพิษชื่อกิมปักกะ1ขจัดผู้บริโภค
กิมปักกชาดกที่ 5 จบ

เชิงอรรถ :
1 กิมปักกะ คือ ผลไม้มีพิษชนิดหนึ่งมีสีกลิ่นและรสน่ารับประทาน (ขุ.ชา.อ. 2/85/174)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :35 }