เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 8. ตักกลชาดก (446)
(พ่อกล่าวว่า)
[85] นี่เจ้าเด็กน้อย เจ้าพูดกระทบข่มขู่พ่อด้วยวาจาที่หยาบ
ลูกรัก เจ้าเป็นลูกแท้ ๆ ของพ่อ กลับไม่อนุเคราะห์เกื้อกูลพ่อ
(ลูกชายกล่าวโต้ตอบว่า)
[86] คุณพ่อ ลูกจะไม่อนุเคราะห์เกื้อกูลคุณพ่อก็หาไม่
แม้ลูกก็อนุเคราะห์เกื้อกูลคุณพ่อ
แต่ไม่อาจจะห้ามคุณพ่อผู้กำลังทำกรรมชั่วช้านั้น
จากการกระทำนั้นได้
(พ่อกล่าวว่า)
[87] พ่อสวิฏฐะ ผู้ใดมีความชั่วช้า
เบียดเบียนพ่อแม่ผู้ไม่ประทุษร้ายตน
เมื่อตายไปชาติหน้า ผู้นั้นจะตกนรกอย่างไม่ต้องสงสัย
[88] พ่อสวิฏฐะ ส่วนผู้ใดบำรุงพ่อแม่ด้วยข้าวและน้ำ
เมื่อตายไปชาติหน้า ผู้นั้นจะขึ้นสวรรค์อย่างไม่ต้องสงสัย
[89] ลูกรัก เจ้าไม่อนุเคราะห์เกื้อกูลพ่อก็หามิได้
เจ้าอนุเคราะห์เกื้อกูลพ่อแท้ ๆ
แต่พ่อถูกแม่ของเจ้าสั่งมา จึงกระทำกรรมหยาบช้าเช่นนี้
(ลูกชายกล่าวว่า)
[90] ภรรยาของพ่อไม่ใช่คนดี เป็นแม่บังเกิดเกล้าของลูกนั่นเอง
พ่อควรขับแม่ออกจากเรือนไป
แม่นั้นควรจะได้รับทุกข์อย่างอื่นบ้าง
[91] ภรรยาของพ่อไม่ใช่คนดี เป็นแม่บังเกิดเกล้าของลูกนั่นเอง
แม่นั้นมีความคิดชั่วช้า ได้รับการฝึกแล้วหมดพยศ
เหมือนช้างพัง จงให้กลับมาอยู่ต่อไป
ตักกลชาดกที่ 8 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :337 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 9. มหาธัมมปาลชาดก (447)
9. มหาธัมมปาลชาดก (447)
ว่าด้วยมหาธรรมปาลกุมาร
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์ถามพราหมณ์ว่า)
[92] วัตรของท่านเป็นอย่างไร
อนึ่ง พรหมจรรย์ของท่านเป็นอย่างไร
นี้เป็นผลแห่งวัตรและพรหมจรรย์ที่ท่านประพฤติดีแล้วอย่างไร
พราหมณ์ ขอท่านโปรดบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้าว่า
เพราะเหตุไรหนอ พวกท่านจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
(พราหมณ์ตอบว่า)
[93] พวกเราประพฤติธรรม1 ไม่กล่าวเท็จ
งดเว้นกรรมชั่ว ละเว้นกรรมอันไม่ประเสริฐทั้งหมด
เพราะเหตุนั้นแล พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[94] พวกเราฟังธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
แต่พวกเราไม่ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษเลย
จึงละเว้นอสัตบุรุษ ไม่ละเว้นสัตบุรุษ
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[95] ก่อนจะให้ทาน พวกเราก็ดีใจ แม้ขณะให้ก็พอใจ
แม้ให้ไปแล้วก็ไม่เดือดร้อนในภายหลัง
เพราะฉะนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[96] พวกเราเลี้ยงดูสมณะ พราหมณ์ คนเดินทาง
วณิพก ยาจก และคนจนให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ

เชิงอรรถ :
1 ประพฤติธรรม ในที่นี้หมายถึงประพฤติกุศลกรรมบถ (ทางแห่งความดี 10) คือ ทางกาย 3 ได้แก่
(1) ละการฆ่าสัตว์ (2) ละการลักทรัพย์ (3) ละการประพฤติผิดในกาม ทางวาจา 4 ได้แก่ (1) ละการ
พูดเท็จ (2) ละการพูดส่อเสียด (3) ละการพูดคำหยาบ (4) ละการพูดเพ้อเจ้อ ทางใจ 3 ได้แก่ (1) ไม่
เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น (2) ไม่มีจิตคิดร้ายต่อผู้อื่น (3) มีความเห็นชอบ (ขุ.ชา.อ. 5/93/430)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :338 }