เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 6. มัณฑัพยชาดก (444)
6. มัณฑัพยชาดก (444)
ว่าด้วยมัณฑัพยคหบดี
(ดาบสกระทำสัจจวาจาว่า)
[62] อาตมาต้องการบุญ มีจิตเลื่อมใส
ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้เพียง 7 วันเท่านั้น
ต่อแต่นั้น แม้จะไม่พอใจประพฤติพรหมจรรย์
ก็ยังประพฤติมาเกิน 50 ปี
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอจงมีความสวัสดี
ขอพิษจงคลาย ขอยัญญทัตต์กุมารจงรอดชีวิต
(บิดากระทำสัจจวาจาว่า)
[63] เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ข้าพเจ้าเห็นแขกในเวลามาพัก
ก็ไม่ยินดีให้พัก
อนึ่ง สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายแม้ผู้เป็นพหูสูต
ก็ไม่ทราบความที่ข้าพเจ้าไม่พอใจ
ข้าพเจ้าแม้จะไม่พอใจก็ตาม ก็ยังให้ทาน
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอจงมีความสวัสดี
ขอพิษจงคลาย ขอยัญญทัตต์ลูกพ่อจงรอดชีวิต
(มารดากระทำสัจจวาจาว่า)
[64] ลูกรัก อสรพิษที่มีพิษร้ายแรงตัวใด
ได้โผล่ขึ้นจากปล่องมากัดเจ้า
วันนี้ อสรพิษตัวนั้น และบิดาของเจ้า
ไม่มีความแตกต่างกันเลย
เพราะไม่ได้เป็นที่รักของแม่
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอจงมีความสวัสดี
ขอพิษจงคลาย ขอยัญญทัตต์ลูกชายจงรอดชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :332 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 6. มัณฑัพยชาดก (444)
(นายมัณฑัพยะถามทีปายนดาบสว่า)
[65] ชนบางพวกผู้สงบระงับ ฝึกตนแล้ว บวชเป็นดาบส
มีรูปร่างไม่น่าใคร่ไม่มีเลย นอกเสียจากกัณหดาบส
ท่านทีปายนดาบส ท่านรังเกียจอะไร
จึงไม่พอใจประพฤติพรหมจรรย์
(ทีปายนดาบสตอบว่า)
[66] กัณหดาบสนั้นเป็นคนโง่จริงหนอ เหมือนกับเด็กใบ้น้ำลาย
ออกบวชด้วยศรัทธาแล้วยังกลับไปหาสิ่งนั้นอีก
อาตมารังเกียจวาทะเช่นนี้
ถึงไม่พอใจก็ยังประพฤติพรหมจรรย์
ซึ่งเป็นฐานะที่วิญญูชนสรรเสริญและเป็นฐานะของสัตบุรุษ
อาตมาจึงบำเพ็ญบุญแม้อย่างนี้
(ทีปายนดาบสย้อนถามว่า)
[67] ท่านเลี้ยงดูสมณะ พราหมณ์ และคนเดินทาง
ให้อิ่มหน่ำด้วยข้าวและน้ำ
เรือนของท่านนี้เพียบพร้อมด้วยข้าวและน้ำ
มีภักษาหารเปรียบดังอู่ข้าวอู่น้ำ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านรังเกียจวาทะอะไร
ถึงไม่พอใจก็ยังให้ทานนี้
(นายมัณฑัพยะตอบว่า)
[68] บิดาและปู่ของข้าพเจ้าเป็นคนมีศรัทธา
เป็นทานบดี เป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
ข้าพเจ้าผู้ประพฤติตามประเพณีของตระกูลนั้น
อย่าได้ชื่อว่า เป็นคนทำลายตระกูลคนสุดท้ายเลย
ข้าพเจ้ารังเกียจวาทะเช่นนั้น
ถึงไม่พอใจก็ยังคงให้ทานนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :333 }