เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 5. จูฬโพธิชาดก (443)
(พระโพธิสัตว์ทูลว่า)
[54] เมื่อความโกรธเกิดขึ้นย่อมมองไม่เห็น
เมื่อไม่เกิดย่อมมองเห็นได้ดี
ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแล้วแก่อาตมา จึงไม่เสื่อมคลาย
เพราะความโกรธเป็นอารมณ์ของคนโง่
[55] ความโกรธที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ศัตรูผู้มุ่งความทุกข์พอใจ
ได้เกิดขึ้นแก่อาตมา ยังไม่เสื่อมคลายเลย
เพราะความโกรธเป็นอารมณ์ของคนโง่
[56] อนึ่ง เมื่อเกิดความโกรธขึ้น
บุคคลย่อมไม่หยั่งรู้ประโยชน์ของตัวเอง
ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแล้วแก่อาตมา ยังไม่เสื่อมคลายเลย
เพราะความโกรธเป็นอารมณ์ของคนโง่
[57] คนถูกความโกรธใดครอบงำ ย่อมละทิ้งกุศลธรรม
ทำประโยชน์แม้อันไพบูลย์ให้เสียไป
ความโกรธนั้นมีเสนาน่าสะพรึงกลัว มีกำลังย่ำยี
ความโกรธของอาตมายังไม่เสื่อมคลายไปเลย มหาบพิตร
[58] เมื่อไม้แห้งเสียดสีกันอยู่ก็เกิดไฟป่า
ไฟนั้นเกิดจากไม้แห้งอันใดก็ไหม้ไม้แห้งนั้นเอง
[59] ความโกรธย่อมเกิดขึ้นเพราะความแข่งดีของคนพาลผู้โง่เขลา
ไม่มีความรู้ แม้เขาก็ถูกความโกรธนั้นแหละเผาผลาญ
[60] ความโกรธย่อมเพิ่มพูนแก่ผู้ใดเหมือนดังไฟที่กองหญ้าและไม้แห้ง
ผู้นั้นย่อมเสื่อมยศเหมือนดวงจันทร์ข้างแรม
[61] ผู้ใดระงับความโกรธเสียได้เหมือนไฟที่ปราศจากเชื้อ
ผู้นั้นยศย่อมบริบูรณ์เหมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น
จูฬโพธิชาดกที่ 5 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :331 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 6. มัณฑัพยชาดก (444)
6. มัณฑัพยชาดก (444)
ว่าด้วยมัณฑัพยคหบดี
(ดาบสกระทำสัจจวาจาว่า)
[62] อาตมาต้องการบุญ มีจิตเลื่อมใส
ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้เพียง 7 วันเท่านั้น
ต่อแต่นั้น แม้จะไม่พอใจประพฤติพรหมจรรย์
ก็ยังประพฤติมาเกิน 50 ปี
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอจงมีความสวัสดี
ขอพิษจงคลาย ขอยัญญทัตต์กุมารจงรอดชีวิต
(บิดากระทำสัจจวาจาว่า)
[63] เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ข้าพเจ้าเห็นแขกในเวลามาพัก
ก็ไม่ยินดีให้พัก
อนึ่ง สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายแม้ผู้เป็นพหูสูต
ก็ไม่ทราบความที่ข้าพเจ้าไม่พอใจ
ข้าพเจ้าแม้จะไม่พอใจก็ตาม ก็ยังให้ทาน
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอจงมีความสวัสดี
ขอพิษจงคลาย ขอยัญญทัตต์ลูกพ่อจงรอดชีวิต
(มารดากระทำสัจจวาจาว่า)
[64] ลูกรัก อสรพิษที่มีพิษร้ายแรงตัวใด
ได้โผล่ขึ้นจากปล่องมากัดเจ้า
วันนี้ อสรพิษตัวนั้น และบิดาของเจ้า
ไม่มีความแตกต่างกันเลย
เพราะไม่ได้เป็นที่รักของแม่
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอจงมีความสวัสดี
ขอพิษจงคลาย ขอยัญญทัตต์ลูกชายจงรอดชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :332 }