เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 5. จูฬโพธิชาดก (443)
5. จูฬโพธิชาดก (443)
ว่าด้วยจูฬโพธิกุมาร
(พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[49] พราหมณ์ ถ้าจะพึงมีคนมาพานางปริพาชิกาของท่าน
ผู้มีดวงตางาม ยิ้มแย้มร่าเริงน่ารักนี้ไปโดยพลการ
ท่านจะทำอย่างไรเล่า
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[50] ถ้าอาตมาเกิดความโกรธขึ้น
ความโกรธก็จะไม่พึงเสื่อมคลาย
จะไม่เสื่อมคลายตลอดชีวิตของอาตมา
อาตมาจะห้ามความโกรธเสียโดยพลัน
เหมือนฝนห่าใหญ่ระงับฝุ่นละออง
(พระราชาตรัสว่า)
[51] วันก่อน ท่านนั้นกล่าวอวดอ้างอย่างไรหนอ
วันนี้ดูเหมือนมีกำลัง จึงทำเป็นนั่งนิ่งเย็บผ้าห่มอยู่ ณ บัดนี้
(พระโพธิสัตว์ทูลตอบว่า)
[52] อาตมาเกิดความโกรธขึ้นแล้ว
ความโกรธไม่เสื่อมคลาย
จะไม่เสื่อมคลายตลอดชีวิตของอาตมา
อาตมาได้ห้ามความโกรธเสียแล้วโดยพลัน
เหมือนฝนห่าใหญ่ระงับฝุ่นละออง
(พระราชาตรัสว่า)
[53] ทำไม ความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านจึงไม่เสื่อมคลาย
ทำไม ความโกรธจึงไม่เสื่อมคลายตลอดชีวิตของท่าน
ไฉน ท่านจึงห้ามความโกรธได้เหมือนฝนห่าใหญ่ระงับฝุ่นละออง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :330 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 5. จูฬโพธิชาดก (443)
(พระโพธิสัตว์ทูลว่า)
[54] เมื่อความโกรธเกิดขึ้นย่อมมองไม่เห็น
เมื่อไม่เกิดย่อมมองเห็นได้ดี
ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแล้วแก่อาตมา จึงไม่เสื่อมคลาย
เพราะความโกรธเป็นอารมณ์ของคนโง่
[55] ความโกรธที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ศัตรูผู้มุ่งความทุกข์พอใจ
ได้เกิดขึ้นแก่อาตมา ยังไม่เสื่อมคลายเลย
เพราะความโกรธเป็นอารมณ์ของคนโง่
[56] อนึ่ง เมื่อเกิดความโกรธขึ้น
บุคคลย่อมไม่หยั่งรู้ประโยชน์ของตัวเอง
ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแล้วแก่อาตมา ยังไม่เสื่อมคลายเลย
เพราะความโกรธเป็นอารมณ์ของคนโง่
[57] คนถูกความโกรธใดครอบงำ ย่อมละทิ้งกุศลธรรม
ทำประโยชน์แม้อันไพบูลย์ให้เสียไป
ความโกรธนั้นมีเสนาน่าสะพรึงกลัว มีกำลังย่ำยี
ความโกรธของอาตมายังไม่เสื่อมคลายไปเลย มหาบพิตร
[58] เมื่อไม้แห้งเสียดสีกันอยู่ก็เกิดไฟป่า
ไฟนั้นเกิดจากไม้แห้งอันใดก็ไหม้ไม้แห้งนั้นเอง
[59] ความโกรธย่อมเกิดขึ้นเพราะความแข่งดีของคนพาลผู้โง่เขลา
ไม่มีความรู้ แม้เขาก็ถูกความโกรธนั้นแหละเผาผลาญ
[60] ความโกรธย่อมเพิ่มพูนแก่ผู้ใดเหมือนดังไฟที่กองหญ้าและไม้แห้ง
ผู้นั้นย่อมเสื่อมยศเหมือนดวงจันทร์ข้างแรม
[61] ผู้ใดระงับความโกรธเสียได้เหมือนไฟที่ปราศจากเชื้อ
ผู้นั้นยศย่อมบริบูรณ์เหมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น
จูฬโพธิชาดกที่ 5 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :331 }