เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 2. กัณหชาดก (440)
[7] คนเหล่าใดละทิ้งทรัพย์เป็นจำนวนมาก
ไม่พิจารณาหนทางที่ยังมิได้ใคร่ครวญ
คนเหล่านั้นต้องเป็นผู้ทูนจักรไว้
[8] บัณฑิตพึงพิจารณาการงานและโภคะอันไพบูลย์
เมื่ออยากได้ก็อย่าพึงส้องเสพสิ่งที่ประกอบด้วยความฉิบหาย
พึงทำตามคำบอกกล่าวของผู้อนุเคราะห์ทั้งหลาย
บุคคลเช่นนั้นจักรก็จะไม่พึงกล้ำกราย
(นายมิตตวินทกะถามว่า)
[9] เทพผู้ควรบูชา จักรบนศีรษะของข้าพเจ้า
จะอยู่นานสักเท่าไรเล่าหนอ กี่พันปี
ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้า
(รุกขเทวดาตอบว่า)
[10] มิตตวินทกะ ท่านจงฟังข้าพเจ้า
เจ้าต้องระลึกถึงให้มาก ตระหนักไว้โดยยิ่ง
จักรยังคงพัดผันอยู่บนศีรษะของเจ้า
เมื่อเจ้ามีชีวิตอยู่ ก็จะไม่พ้นมันหรอก
จตุทวารชาดกที่ 1 จบ

2. กัณหชาดก (440)
ว่าด้วยกัณหฤาษี
(ท้าวสักกะตรัสกับฤๅษีกัณหะว่า)
[11] ชายคนนี้ผิวดำหนอ บริโภคอาหารสีดำ
อยู่ในภูมิประเทศสีดำ เราไม่ชอบใจเลย
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[12] ท้าวสุชัมบดีสักกเทวราช เพราะผิวไม่นับว่าเป็นคนดำ
เพราะพราหมณ์มีความดีเป็นแก่นในภายใน
ผู้ที่มีกรรมชั่วนั่นแหละ นับว่าเป็นคนดำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :322 }


(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[13] ท่านพราหมณ์ เพราะถ้อยคำที่ท่านเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านตามที่ใจของท่านปรารถนา
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[14] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากพระองค์จะประทานพรแก่อาตมา
อาตมาหวังเฉพาะความประพฤติของตน คือ อย่ามีความโกรธ
อย่ามีโทสะ อย่ามีความโลภ และอย่ามีความเสน่หา
ขอพระองค์ทรงประทานพรทั้ง 4 ประการเหล่านี้แก่อาตมาเถิด
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[15] พราหมณ์ ท่านเห็นโทษอะไรในความโกรธ
ในโทสะ ในความโลภ หรือในความเสน่หา
ข้าพเจ้าถามแล้วขอท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้า
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[16] ความโกรธนั้นเกิดจากความไม่อดทน
ถึงจะน้อย ก็จะมากได้
ต่อไปก็จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น เป็นความขัดข้องใจ
มีความคับแค้นใจเป็นอันมาก
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบความโกรธ
[17] คนถูกโทสะครอบงำมีวาจาหยาบคาย
ต่อไปก็ประหมัดตบตีกัน ใช้ท่อนไม้ประหารกัน
ที่สุดก็จะใช้ศัสตราประหัตประหารกัน
โทสะมีความโกรธเป็นสมุฏฐาน
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบโทสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :323 }