เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 2. กัณหชาดก (440)
10. ทสกนิบาต
1. จตุทวารชาดก (439)
ว่าด้วยเมืองมี 4 ประตู
(นายมิตตวินทกะถามรุกขเทวดาโพธิสัตว์ว่า)
[1] เมืองนี้มี 4 ประตู มีกำแพงเหล็กมั่นคง
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมชั่วอะไร จึงถูกกักขังไว้
[2] ประตูทุกบานได้ถูกปิดไว้ ข้าพเจ้าถูกขังเหมือนกับนก
เทพผู้ควรบูชา เหตุอะไรหนอ ข้าพเจ้าจึงถูกจักรบดขยี้
(รุกขเทวดาตอบว่า)
[3] นี่สหาย ท่านได้ทรัพย์ถึง 120,000 แล้ว
ก็ไม่กระทำตามคำของพวกญาติผู้อนุเคราะห์
[4] ท่านได้แล่นเรือออกไปสู่สมุทรสาคร
ซึ่งทำให้เรือโลดเต้นได้ อันมีความสำเร็จน้อย
ท่านเมื่อมีความปรารถนามากเกินไป
ได้ครอบครองนารี 4 นาง ไม่พอใจนางทั้ง 4
ได้ครอบครองนารี 8 นาง ไม่พอใจนางทั้ง 8
[5] ได้ครอบครองนารี 16 นาง ไม่พอใจนางทั้ง 16
ได้ครอบครองนารี 32 นาง ไม่พอใจนางทั้ง 32
จึงได้ประสบจักร
จักรจึงพัดผันอยู่ที่ศีรษะของท่าน
ผู้ถูกความปรารถนามากเกินไปขจัดแล้ว
[6] อันความอยากที่แผ่ซ่านไป กว้างขวางยิ่งนัก ให้เต็มได้ยาก
คนเหล่าใดย่อมกำหนัดตามความอยากนั้น
คนเหล่านั้นต้องเป็นผู้ทูนจักรไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :321 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 2. กัณหชาดก (440)
[7] คนเหล่าใดละทิ้งทรัพย์เป็นจำนวนมาก
ไม่พิจารณาหนทางที่ยังมิได้ใคร่ครวญ
คนเหล่านั้นต้องเป็นผู้ทูนจักรไว้
[8] บัณฑิตพึงพิจารณาการงานและโภคะอันไพบูลย์
เมื่ออยากได้ก็อย่าพึงส้องเสพสิ่งที่ประกอบด้วยความฉิบหาย
พึงทำตามคำบอกกล่าวของผู้อนุเคราะห์ทั้งหลาย
บุคคลเช่นนั้นจักรก็จะไม่พึงกล้ำกราย
(นายมิตตวินทกะถามว่า)
[9] เทพผู้ควรบูชา จักรบนศีรษะของข้าพเจ้า
จะอยู่นานสักเท่าไรเล่าหนอ กี่พันปี
ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้า
(รุกขเทวดาตอบว่า)
[10] มิตตวินทกะ ท่านจงฟังข้าพเจ้า
เจ้าต้องระลึกถึงให้มาก ตระหนักไว้โดยยิ่ง
จักรยังคงพัดผันอยู่บนศีรษะของเจ้า
เมื่อเจ้ามีชีวิตอยู่ ก็จะไม่พ้นมันหรอก
จตุทวารชาดกที่ 1 จบ

2. กัณหชาดก (440)
ว่าด้วยกัณหฤาษี
(ท้าวสักกะตรัสกับฤๅษีกัณหะว่า)
[11] ชายคนนี้ผิวดำหนอ บริโภคอาหารสีดำ
อยู่ในภูมิประเทศสีดำ เราไม่ชอบใจเลย
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[12] ท้าวสุชัมบดีสักกเทวราช เพราะผิวไม่นับว่าเป็นคนดำ
เพราะพราหมณ์มีความดีเป็นแก่นในภายใน
ผู้ที่มีกรรมชั่วนั่นแหละ นับว่าเป็นคนดำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :322 }