เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [9. นวกนิบาต] 5. หริตจชาดก (431)
(พญานกแขกเต้ากล่าวว่า)
[38] ท้าวสักกะ วันนี้ข้าพระองค์มีความสุขเพราะเห็นต้นไม้มีผลฉันใด
ขอพระองค์พร้อมทั้งพระประยูรญาติทั้งปวงจงมีความสุขฉันนั้นเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[39] ท้าวสักกะครั้นประทานพร
บันดาลให้ต้นไม้มีผลแก่นกแขกเต้าแล้ว
พร้อมด้วยพระมเหสี ก็เสด็จหลีกไปยังสวนเทพนันทวัน
จูฬสุวกราชชาดกที่ 4 จบ

5. หริตจชาดก (431)
ว่าด้วยหริตจดาบสโพธิสัตว์
(พระราชาตรัสถามหริตจดาบสว่า)
[40] ท่านมหาพรหม โยมทราบข่าวมาว่า
หริตจดาบสบริโภคกาม คำกล่าวนั้นคงเป็นเท็จใช่ไหม
พระคุณเจ้ายังบริสุทธิ์อยู่ใช่ไหม
(หริตจดาบสกราบทูลว่า)
[41] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
ข้อนี้เป็นจริงตามที่พระองค์ได้ทรงสดับมา
อาตมภาพหมกมุ่นอยู่ในกามคุณอันทำให้ลุ่มหลง
ได้เดินทางผิดไปแล้ว
(พระราชาตรัสว่า)
[42] ใจบรรเทาราคะที่เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยปัญญาใด
ปัญญานั้นเป็นธรรมชาติละเอียด
คิดแต่สิ่งที่ดี ๆ จะมีประโยชน์อะไร
ท่านไม่อาจบรรเทาจิตได้หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :307 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [9. นวกนิบาต] 6. ปทกุสลมาณชาดก (432)
(หริตจดาบสกราบทูลว่า)
[43] ขอถวายพระพรมหาบพิตร ในโลกนี้มีสิ่งที่หยาบ
มีกำลังอย่างยิ่งที่ปัญญาหยั่งไม่ถึง 4 ประการ คือ
1. ราคะ (ความกำหนัด) 2. โทสะ (ความโกรธ)
3. มทะ (ความเมา) 4. โมหะ (ความหลง)
(พระราชาตรัสว่า)
[44] โยมได้ยกย่องพระคุณเจ้าไว้ว่า
ท่านหริตจดาบสเป็นพระอรหันต์ ถึงพร้อมด้วยศีล
ประพฤติบริสุทธิ์ เป็นนักปราชญ์ เป็นบัณฑิต
(หริตจดาบสกราบทูลว่า)
[45] ขอถวายพระพรมหาบพิตร ฤๅษีแม้มีปัญญา
ยินดีแล้วในคุณธรรม ยังถูกความคิดลามกประกอบด้วยราคะ
ที่ยึดถือว่างาม เบียดเบียนเอาได้
(พระราชาตรัสว่า)
[46] ราคะที่เกิดขึ้นในสรีระนี้เกิดขึ้นแล้วเป็นเหตุประทุษร้ายผิวพรรณ
พระคุณเจ้าจงละราคะนั้นเสีย ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระคุณเจ้า
พระคุณเจ้าได้รับยกย่องว่า เป็นนักปราชญ์ของคนหมู่มาก
(หริตจดาบสกราบทูลว่า)
[47] อาตมภาพจักค้นหารากเหง้าของกามเหล่านั้น
ที่ทำให้มืดบอด มีทุกข์มาก มีพิษร้ายแรง
จักตัดราคะพร้อมทั้งเครื่องผูก
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[48] ครั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ หริตจฤๅษีผู้ยึดมั่นสัจจะ
คลายกามราคะแล้ว เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก
หริตจชาดกที่ 5 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :308 }