เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [9. นวกนิบาต] 3. มหาสุวราชชาดก (429)
[9] ผู้ใดในโลกนี้ไม่เชื่อฟังคำของผู้ใหญ่ทั้งหลาย
ประพฤติเกินขอบเขตย่อมเดือดร้อน
เหมือนนกแร้งที่ละเมิดคำสอน
ผู้นั้นแลย่อมถึงความพินาศ
เพราะไม่กระทำตามคำสอนของผู้ใหญ่
คิชฌชาดกที่ 1 จบ

2. โกสัมพิยชาดก (428)
ว่าด้วยการทะเลาะกันในเมืองโกสัมพี
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[10] คนทะเลาะกันมีเสียงดังเหมือนกันไปหมด
ไม่มีใครเลยจะรู้สึกตัวว่าเป็นคนพาล
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสงฆ์แตกกัน ก็ไม่ยอมรับรู้เหตุอย่างอื่น
[11] คนฟั่นเฟือนยกตนว่าเป็นบัณฑิต เอาแต่พูด
ยื่นปากพูดตามที่ตัวปรารถนา
แต่ไม่ยอมรับรู้เรื่องที่ทะเลาะกันอย่างไร้ยางอาย
[12] ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา
ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป
เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบระงับ
[13] ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา
ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป
เวรของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ
[14] เพราะว่าในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร แต่เวรทั้งหลาย
ย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร นี้เป็นธรรมเก่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :302 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [9. นวกนิบาต] 3. มหาสุวราชชาดก (429)
[15] ชนพวกอื่นไม่รู้สึกว่าพวกเราย่อมย่อยยับในท่ามกลางสงฆ์นี้
ส่วนชนเหล่าใดในท่ามกลางสงฆ์นั้นย่อมรู้สึก
ต่อจากนั้น ความทะเลาะของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ
[16] คนสมัยก่อนตัดกระดูกกัน ปลิดชีวิต ปล้นโค
ม้า ทรัพย์ ซ้ำยังชิงเอาบ้านเมืองกัน
แม้คนเหล่านั้นก็ยังคบกันได้ ทำไมพวกเธอจึงคบกันไม่ได้
[17] หากบุคคลจะพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เป็นนักปราชญ์ มีปกติอยู่ด้วยกรรมอันดีงาม
เที่ยวไปด้วยกัน ครอบงำอันตรายทั้งปวงแล้ว
มีสติ พอใจ พึงเที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
[18] หากบุคคลไม่ได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เป็นนักปราชญ์ มีปกติอยู่ด้วยกรรมอันดีงาม
เที่ยวไปด้วยกัน พึงเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนพระราชาทรงละแคว้นที่ทรงชนะแล้วเสด็จไปพระองค์เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะเที่ยวไปตัวเดียวในป่า
[19] การเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวเป็นความประเสริฐ
เพราะความเป็นสหายไม่มีในคนพาล
อนึ่ง บุคคลควรมีความขวนขวายน้อย
เที่ยวไปผู้เดียว ไม่พึงทำความชั่ว
เหมือนช้างมาตังคะเที่ยวไปตัวเดียวในป่า
โกสัมพิยชาดกที่ 2 จบ

3. มหาสุวราชชาดก (429)
ว่าด้วยพญานกแขกเต้า
(ท้าวสักกะตรัสกับพญานกแขกเต้าว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :303 }