เมนู

9. นวกนิบาต
1. คิชฌชาดก (427)
ว่าด้วยนกแร้ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[1] หนทางที่คิชฌบรรพตชื่อปริสังกุปถะมีมาแต่โบราณ
ณ หนทางนั้นมีนกแร้งเลี้ยงพ่อแม่ที่แก่อยู่
มันได้นำเอามันข้นของงูเหลือมมาให้พ่อแม่กินโดยมาก
[2] ก็พ่อของแร้งรู้อยู่ว่า ลูกบินสูงเกินไปจะตก
จึงได้สอนลูกแร้งชื่อสุปัตตะตัวแข็งแรง
กล้าหาญ บินไปได้ไกลว่า
[3] ลูก เมื่อใดเจ้ารู้ว่า แผ่นดินที่ทะเลล้อมรอบ
กลมเหมือนวงล้อลอยอยู่ในน้ำ
เจ้าจงกลับแค่นั้นนะ ลูกอย่าบินไปเกินกว่านั้น
[4] ปักษีตัวมีกำลัง เป็นพญานก โผขึ้นด้วยกำลัง
เอี้ยวคอมองดูภูเขาและป่าไม้
[5] นกแร้งได้เห็นแผ่นดินที่มีทะเลล้อมรอบ กลมเหมือนวงล้อ
เหมือนอย่างที่ได้ฟังจากพ่อของมัน
[6] มันก็ยังบินเลยสถานที่ที่บิดาบอกนั้นไป
สายลมอันแรงกล้า ก็ได้พัดกระหน่ำนกแร้งตัวแข็งแรงนั้น
[7] สัตว์ที่บินเลยไป ไม่อาจจะบินกลับได้อีกเลย
นกแร้งตกอยู่ในอำนาจของลมเวรัมภา ได้ถึงความพินาศแล้ว
[8] ลูกเมียของมันและนกแร้งเหล่าอื่นที่อาศัยมันเป็นอยู่
ทั้งหมดถึงความพินาศ เพราะนกที่ไม่ทำตามโอวาทตัวเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :301 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [9. นวกนิบาต] 3. มหาสุวราชชาดก (429)
[9] ผู้ใดในโลกนี้ไม่เชื่อฟังคำของผู้ใหญ่ทั้งหลาย
ประพฤติเกินขอบเขตย่อมเดือดร้อน
เหมือนนกแร้งที่ละเมิดคำสอน
ผู้นั้นแลย่อมถึงความพินาศ
เพราะไม่กระทำตามคำสอนของผู้ใหญ่
คิชฌชาดกที่ 1 จบ

2. โกสัมพิยชาดก (428)
ว่าด้วยการทะเลาะกันในเมืองโกสัมพี
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[10] คนทะเลาะกันมีเสียงดังเหมือนกันไปหมด
ไม่มีใครเลยจะรู้สึกตัวว่าเป็นคนพาล
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสงฆ์แตกกัน ก็ไม่ยอมรับรู้เหตุอย่างอื่น
[11] คนฟั่นเฟือนยกตนว่าเป็นบัณฑิต เอาแต่พูด
ยื่นปากพูดตามที่ตัวปรารถนา
แต่ไม่ยอมรับรู้เรื่องที่ทะเลาะกันอย่างไร้ยางอาย
[12] ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา
ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป
เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบระงับ
[13] ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา
ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป
เวรของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ
[14] เพราะว่าในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร แต่เวรทั้งหลาย
ย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร นี้เป็นธรรมเก่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :302 }