เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [1. เอกกนิบาต] 8. วรุณวรรค 3. สัจจังกิรชาดก (73)
8. วรุณวรรค
หมวดว่าด้วยไม้กุ่ม
1. วรุณชาดก (71)
ว่าด้วยมาณพหักไม้กุ่ม
(พระโพธิสัตว์เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ได้ฟังการงานที่มาณพกระทำ จึงบอก
ถึงเหตุแห่งความเสื่อมว่า)
[71] งานซึ่งควรทำก่อนเขาทำทีหลัง
เขาจะเดือดร้อนในภายหลัง เหมือนมาณพหักไม้กุ่ม
วรุณชาดกที่ 1 จบ

2. สีลวนาคชาดก (72)
ว่าด้วยพญาช้างสีลวะ
(รุกขเทวดาสถิตอยู่ในไพรสณฑ์นั้นในเวลาที่คนชั่วถูกแผ่นดินสูบจึงกล่าวว่า)
[72] คนอกตัญญูคอยจับผิดอยู่เป็นนิตย์
ถึงจะให้แผ่นดินทั้งหมด ก็ทำให้เขาพึงพอใจไม่ได้
สีลวนาคชาดกที่ 2 จบ

3. สัจจังกิรชาดก (73)
ว่าด้วยความจริงที่ได้ยินมา
(พระฤๅษีโพธิสัตว์ไม่คร่ำครวญไม่สะทกสะท้านในที่ตนถูกตีจึงกล่าวว่า)
[73] ได้ยินว่า คนบางพวกในโลกนี้
ได้กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า ไม้ลอยน้ำยังดีกว่า
ส่วนคนบางคนที่ประทุษร้ายมิตรไม่ดีเลย
สัจจังกิรชาดกที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :30 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [1. เอกกนิบาต] 8. วรุณวรรค 6. อสังกิยชาดก (76)
4. รุกขธัมมชาดก (74)
ว่าด้วยธรรมสำหรับต้นไม้
(พระโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่เหล่าเทวดาว่า)
[74] ญาติยิ่งมีมากยิ่งดี
แม้ต้นไม้ที่เกิดในป่ายิ่งมีมากก็ยิ่งดี
ต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่โดดเดี่ยว
ถึงจะใหญ่โต ลมย่อมพัดให้หักโค่นได้
รุกขธัมมชาดกที่ 4 จบ

5. มัจฉชาดก (75)
ว่าด้วยปลาอ้อนวอนขอฝน
(ปลาโพธิสัตว์เรียกพระเจ้าปัชชุนนเทพว่า)
[75] ปัชชุนนเทพ ท่านจงร้องคำรามให้ฝนตกมา
ทำลายขุมทรัพย์ของฝูงกา ทำฝูงกาให้ได้รับความเศร้าโศก
และช่วยปลดเปลื้องข้าพเจ้าและหมู่ญาติ
ให้พ้นจากความเศร้าโศกเถิด
มัจฉชาดกที่ 5 จบ

6. อสังกิยชาดก (76)
ว่าด้วยความไม่หวาดระแวง
(ฤๅษีโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่พวกพ่อค้าเกวียนว่า)
[76] เราไม่มีความหวาดระแวงในหมู่บ้าน
ทั้งไม่มีความกลัวในป่า
เรามุ่งขึ้นสู่ทางตรงด้วยเมตตาและกรุณา
อสังกิยชาดกที่ 6 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :31 }