เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [8. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค 7. อินทริยชาดก (423)
[54] ผู้ใดถูกถามปัญหา ทั้งที่รู้อยู่ก็ตอบเป็นอย่างอื่น
ผู้นั้นจะมีแต่ลูกผู้หญิงมาเกิด ไม่มีลูกผู้ชายมาเกิดในตระกูล
[55] ขอถวายพระพรพระเจ้าเจติยะ
ก็ถ้าพระองค์ตรัสวาจาสัตย์ พระองค์จะดำรงอยู่เช่นเดิม
แต่ถ้าพระองค์ยังตรัสวาจาเท็จอยู่ พระองค์จะถูกธรณีสูบลึกลงไป
[56] ผู้ใดถูกถามปัญหา ทั้งที่รู้อยู่ก็ตอบเป็นอย่างอื่นไป
ผู้นั้นจะไม่มีบุตร ที่มีก็จะหลีกหนีไปคนละทิศละทาง
[57] ขอถวายพระพรพระเจ้าเจติยะ
ก็ถ้าพระองค์ตรัสวาจาสัตย์ พระองค์จะดำรงอยู่เช่นเดิม
ถ้าพระองค์ยังตรัสวาจาเท็จอยู่ พระองค์จะถูกธรณีสูบลึกลงไป
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[58] พระเจ้าเจติยะพระองค์นั้นเมื่อก่อนเหาะเหินเดินอากาศได้
ถูกฤๅษีสาป เสื่อมจากสภาวธรรม
ถูกธรณีสูบจนตาย
[59] เพราะฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญ
การลุอำนาจความพอใจ
บุคคลผู้มีจิตอันกิเลสไม่ประทุษร้าย
จะกล่าวแต่ถ้อยคำที่ประกอบด้วยสัจจะเท่านั้น
เจติยราชชาดกที่ 6 จบ

7. อินทริยชาดก (423)
ว่าด้วยอำนาจของอินทรีย์
(สรภังคดาบสกล่าวกับนารทดาบสว่า)
[60] นารทะ ผู้ใดตกอยู่ในอำนาจของอินทรีย์เพราะความใคร่
ผู้นั้นละโลกทั้ง 2 แล้วย่อมไปเกิดในอบาย
แม้มีชีวิตอยู่ ร่างกายก็ซูบซีด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :294 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [8. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค 7. อินทริยชาดก (423)
[61] ต่อจากสุขก็เป็นทุกข์ ต่อจากทุกข์ก็เป็นสุข
เธอจะเป็นผู้ได้รับทุกข์มากกว่าสุข
ดังนั้น เธอพึงหวังสุขอันประเสริฐเถิด
[62] ผู้ใดในยามลำบาก ทนต่อความลำบากได้
ไม่คำนึงถึงความลำบาก ผู้นั้นเป็นนักปราชญ์
ย่อมเสวยโยคสุขอันเป็นที่สุดแห่งความลำบากนั้น
[63] เธอไม่ควรเคลื่อนจากธรรม
เพราะความปรารถนากามทั้งหลาย
อันเป็นเหตุมิใช่ประโยชน์จากประโยชน์ต่าง ๆ
และเพราะทอดทิ้งฌานที่ได้บำเพ็ญแล้ว
(กาฬเทวิลดาบสกล่าวกับนารทดาบสว่า)
[64] ผู้ครองเรือนมีความขยัน แบ่งปันกันกิน เป็นการดี
เมื่อได้สิ่งที่ต้องการก็ไม่ระเริง
และเมื่อเสื่อมจากสิ่งที่ต้องการก็ไม่เดือดร้อน
(พระศาสดาตรัสว่า)
[65] กาฬเทวิลดาบสผู้สงบได้กล่าวความเป็นบัณฑิตนั้นเพียงเท่านี้ว่า
ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะเลวไปกว่าผู้ตกอยู่ในอำนาจ
แห่งอินทรีย์ทั้งหลายนี้เลย
(มนุษย์เปรตกราบทูลพระเจ้าสีพีว่า)
[66] ขอเดชะพระเจ้าสีพี
บุคคลเช่นข้าพระองค์ถึงความพินาศ
เหมือนความพินาศในเงื้อมมือของพวกศัตรู
ทำเหตุที่ให้เกิดยศเหล่านี้ คือ การงาน วิชชา
ความขยัน การวิวาห์ ศีล และความอ่อนโยนให้เสื่อมไป
บังเกิดเป็นมนุษย์เปรตด้วยกรรมของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :295 }