เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [8. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค 5. คังคมาลชาดก (421)
[31] กษัตริย์เหล่าใดทรงยินดีในธรรมที่อริยชนประกาศไว้แล้ว
กษัตริย์เหล่านั้นนับว่าทรงยอดเยี่ยม
ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
กษัตริย์เหล่านั้นทรงดำรงมั่นอยู่ในธรรม
คือ ขันติ โสรัจจะ และสมาธิ
ทรงไปสู่โลกทั้ง 2 โดยวิธีเช่นนั้น
[32] เราเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่กว่าชายและหญิง
ถึงแม้เราจะโกรธก็จะหักห้ามความโกรธได้
ดำรงตนไว้อย่างนั้นต่อชุมชน
จะอนุเคราะห์ลงอาชญาโดยธรรม
(นายสุมังคละกล่าวสดุดีพระราชาว่า)
[33] ขอเดชะพระบรมกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่ชน
ขอพระสิริสมบัติอย่าได้ละพระองค์ในกาลไหน ๆ เลย
ขอพระองค์อย่าทรงกริ้ว มีพระราชหฤทัยผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
ปราศจากความทุกข์ รักษาพระองค์อยู่ตลอด 100 ปีเถิด
[34] ขอเดชะพระบรมกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประกอบด้วยคุณธรรมเหล่านี้ คือ
ทรงมีพระอริยวัตรอันมั่นคง ทรงรับอนุสาสนีโดยง่าย
ไม่ทรงกริ้ว ทรงพระสำราญ
ปกครองแผ่นดินโดยปราศจากการเบียดเบียน
อนึ่ง พระองค์แม้เสด็จพ้นจากโลกนี้ไปแล้ว ขอจงเสด็จสู่สุคติเถิด
[35] พระธรรมิกราชาธิราชเมื่อทรงปกครองโดยกุศโลบาย
อันชอบธรรม ด้วยเหตุที่เหมาะสม ด้วยคำอันเป็นสุภาษิต
พึงทำมหาชนผู้มีความกระวนกระวายให้เย็นใจ
ดุจมหาเมฆยังเมทนีดลให้ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำ
สุมังคลชาดกที่ 4 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :290 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [8. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค 5. คังคมาลชาดก (421)
5. คังคมาลชาดก (421)
ว่าด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าคังคมาละ
(พระเจ้าอุทัยตรัสถามชายคนหนึ่งว่า)
[36] แผ่นดินร้อนเหมือนถ่านเพลิง
ระอุด้วยทรายที่ร้อนราวกับเถ้าถ่าน ถึงอย่างนั้น
เจ้าก็ยังพากเพียรร้องเพลงอยู่ แดดไม่แผดเผาเจ้าหรือ
[37] เบื้องบนดวงอาทิตย์ก็ร้อน เบื้องล่างทรายก็ร้อน
ถึงอย่างนั้น เจ้าก็ยังพากเพียรร้องเพลงอยู่
แดดไม่แผดเผาเจ้าหรือ
(ชายคนนั้นกราบทูลว่า)
[38] แดดหาแผดเผาข้าพระองค์ไม่
แต่แดดคือกามทั้งหลายย่อมแผดเผาข้าพระองค์
ขอเดชะพระมหาราชเจ้า เพราะว่าความต้องการมีหลายอย่าง
ความต้องการเหล่านั้นย่อมแผดเผาข้าพระองค์ หาใช่แดดไม่
(พระเจ้าอัฑฒมาสกทรงเปล่งอุทานว่า)
[39] นี่กาม เราได้เห็นรากเหง้าของเจ้าแล้ว
เจ้าเกิดได้เพราะความดำริ เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีก
เจ้าจะไม่มีอย่างนี้อีกต่อไป
(พระเจ้าอัฑฒมาสกทรงแสดงธรรมแก่พสกนิกรว่า)
[40] กามแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่เพียงพอ แม้มากก็ไม่อิ่ม
โอหนอ กามทั้งหลายคนพาลเพ้อรำพันถึง
กุลบุตรนักปฏิบัติพึงเว้นได้ขาด
(พระเจ้าอุทัยทรงเปล่งอุทานว่า)
[41] การที่เราเป็นพระอุทัยราชาได้บรรลุถึงความเป็นใหญ่
นี้เป็นผลแห่งกรรมอันเล็กน้อยของเรา
การที่มาณพละกามราคะบวชนั้นชื่อว่าได้ลาภดีแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :291 }