เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [8. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค 4. สุมังคลชาดก (420)
[25] อนึ่ง ผู้ใดไม่รู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญาน้อย
ย่อมถูกฆ่าเหมือนโจรที่ถูกฆ่าทิ้งที่ซอกเขา
[26] ส่วนผู้ใดรู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นย่อมพ้นจากความคับขันอันเกิดจากศัตรู
เหมือนนางสุลสาพ้นจากโจรสัตตุกะ
สุลสาชาดกที่ 3 จบ

4. สุมังคลชาดก (420)
ว่าด้วยนายสุมังคละ
(พระราชาตรัสกับอำมาตย์ว่า)
[27] ผู้เป็นใหญ่รู้ตัวว่าเรากำลังโกรธจัดก็อย่าเพิ่งลงโทษ
เพราะผู้ลงโทษอันไม่เหมาะสมแก่ตนโดยขาดเหตุผลแล้ว
จะพึงก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นอย่างมากมาย
[28] เมื่อใดผู้เป็นใหญ่รู้สึกว่าตนมีจิตผ่องใส
พึงพิจารณาคดีที่คนอื่นทำผิด
เมื่อพิจารณาด้วยตนเองว่า คดีเป็นอย่างนี้ ๆ
เมื่อนั้นพึงลงโทษตามความเหมาะสมแก่เขา
[29] ส่วนผู้ใดไม่ลำเอียง พิจารณาความเหมาะสมและไม่เหมาะสม
ผู้นั้นชื่อว่าไม่เบียดเบียนผู้อื่นและตนเอง
ผู้เป็นใหญ่คนใดในโลกนี้ลงโทษตามสมควร
ผู้นั้นย่อมมีคุณงามความดีคุ้มครอง ไม่เสื่อมจากสิริ
[30] กษัตริย์เหล่าใดทรงลำเอียง ไม่ทรงพิจารณาก่อนกระทำ
ทรงรีบลงพระอาชญา
กษัตริย์เหล่านั้นมีโทษอันน่าติเตียน
สวรรคตพ้นจากโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่ทุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :289 }