เมนู

8. อัฏฐกนิบาต
กัจจานิวรรค
หมวดว่าด้วยนางกัจจานี
1. กัจจานิชาดก (417)
ว่าด้วยนางกัจจานี
(ท้าวสักกะตรัสถามนางกัจจานีว่า)
[1] แม่กัจจานี เจ้านุ่งห่มผ้าขาวสะอาด มีผมเปียกชุ่ม
ยกหม้อขึ้นตั้งบนเตา ซาวข้าวสารและงาป่น
ข้าวสุกคลุกงาจักมีไว้เพื่อเหตุอะไร
(นางกัจจานีตอบว่า)
[2] พราหมณ์ ข้าวสุกคลุกงาที่สุกดีแล้ว
จักมีไว้เพื่อเป็นอาหารสำหรับตนเองหามิได้เลย
ธรรมะได้ตายแล้ว
วันนี้ ข้าพเจ้าจักทำบุญอุทิศให้ธรรมะกลางป่าช้า
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[3] แม่กัจจานี เจ้าจงใคร่ครวญแล้วจึงทำ
ใครหนอบอกเจ้าว่า ธรรมะได้ตายแล้ว
ท้าวสหัสสนัยน์ผู้มีอานุภาพล้นบอกไว้ว่า
ธรรมะอันประเสริฐย่อมไม่ตายในกาลไหน ๆ
(นางกัจจานีกล่าวว่า)
[4] พราหมณ์ ข้าพเจ้ามั่นใจในข้อนี้ว่า
ธรรมะได้ตายแล้ว ข้าพเจ้าไม่มีความสงสัย
เพราะเดี๋ยวนี้ คนชั่วกลับเป็นอยู่สบาย
[5] เหมือนอย่างลูกสะใภ้ของข้าพเจ้าเป็นหมัน
หล่อนทุบตี ขับไล่ข้าพเจ้าแล้วคลอดบุตร
เดี๋ยวนี้หล่อนเป็นใหญ่ในตระกูลทั้งหมด
ส่วนข้าพเจ้ากลับถูกทอดทิ้งอยู่อย่างเดียวดาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :285 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [8. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค 2. อัฏฐสัททชาดก (418)
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[6] เรายังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ตาย
เรามาที่นี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าโดยเฉพาะ
ลูกสะใภ้คนใดทุบตีขับไล่เจ้าแล้วคลอดบุตร
เราจะทำหล่อนพร้อมกับบุตรให้เป็นเถ้าธุลีทีเดียว
(นางกัจจานีกล่าวว่า)
[7] ข้าแต่เทวราช หากพระองค์ทรงพอพระทัยเสด็จมาที่นี้
เพื่อประโยชน์แก่หม่อมฉันโดยเฉพาะอย่างนี้
ขอหม่อมฉัน ลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลาน
จงอยู่ร่วมเรือนกันด้วยความบันเทิงใจเถิด
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[8] แม่กาติยานี หากเจ้าพอใจเช่นนั้น
แม้จะถูกทุบตีขับไล่ก็อย่าละธรรม
ขอให้เจ้า ลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลาน
จงอยู่ร่วมเรือนกันด้วยความบันเทิงใจเถิด
[9] นางกาติยานีนั้นกับลูกสะใภ้ได้มีใจบันเทิงอยู่ร่วมกัน
ลูกชายและหลานก็ได้ช่วยกันปฏิบัติบำรุง
เพราะท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพได้ทรงอนุเคราะห์
กัจจานิชาดกที่ 1 จบ

2. อัฏฐสัททชาดก (418)
ว่าด้วยเสียงของบุคคลทั้ง 8
(พระดาบสกราบทูลชี้แจงเสียงทั้ง 8 คือเสียงนกยางว่า)
[10] สระนี้ เมื่อก่อนลุ่มลึก มีปลามาก มีน้ำมาก
เป็นที่อยู่อาศัยของพญานกยาง ซึ่งเป็นที่อยู่แห่งบิดาของเรา
ทุกวันนี้ พวกเรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยกบ จึงละทิ้งน้ำไปไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :286 }